แนวคิดในเรื่องวัคซีน
การใช้วัคซีน FMD
มี 2 ลักษณะ
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า (porphylactic vaccination programme) เป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนเกิดอุบัติการโรค (preoutbreak vaccination)
- โค, กระบือ ฉีดปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน หรือ ฉีดวัคซีนครั้งแรก ตั้งแต่อายุ 46 เดือน ฉีดครั้งที่สอง หลังฉีดครั้งแรก 34 สัปดาห์ (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
- สุกร ฉีดตามระยะการผลิต สุกรขุน ฉีดตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ (ครั้งแรก 8 สัปดาห์ และ ครั้งที่สอง 1012 สัปดาห์) ส่วนสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฉีดปีละ 23 ครั้ง ก่อนผสมพันธุ์ (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
- ตั้งแต่ปี 2544 ในเขตปลอดโรคภาคใต้ กรมปศุสัตว์มีนโยบายงดฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าในโคและกระบือ ส่วนในสุกรยังคงใช้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า และเกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
2. ฉีดวัคซีนแบบวงแหวน (ring vaccination) หรือการฉีดวัคซีนควบคุมโรค (damping down vaccination) เป็นการฉีดวัคซีนเมื่อเกิดอุบัติการโรคแล้ว (postoutbreak vaccination) และฉีดในสัตว์ปกติล้อมรอบอุบัติการโรค เพื่อลดไวรัสที่จะกระจายออกโดยลดจำนวนสัตว์ไวต่อโรค การฉีดวัคซีนวงแหวนเหมาะสำหรับการยับยั้งโรคที่แพร่กระจายทางอากาศหรือการสัมผัสโดยตรง แต่วิธีการกระจายโรค FMD นั้นสามารถนำพาโดยการการปนเปื้อนพาหะ ทำให้โรคระบาดข้ามแนววัคซีนได้ (Wroot, 2001)
การฉีดกระตุ้น
- โดยทั่วไปแล้วคำว่า การฉีดกระตุ้น (vaccinal boost, booster) และฉีดวัคซีนซ้ำ (re-vaccinate, repeat vaccination) ในทางปฏิบัติจะไม่แตกต่างกัน
- วัคซีนเชื้อตายจะให้ความคุ้มโรคที่ไม่ค่อยดี อาจต้องใช้ซ้ำหลายครั้งเพื่อเพิ่มความคุ้มโรค (โสมทัต, 2543) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดกระตุ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนครั้งแรกอาจสูงไม่เพียงพอ การฉีดกระตุ้นทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าครั้งแรก โดยจะตรวจพบแอนติบอดีในซีรั่มได้ภายในเวลาไม่เกิน 4 วัน หลังจากรับวัคซีน แอนติบอดีที่เกิดขึ้นมีปริมาณมากกว่าและอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนครั้งแรกเพียงครั้งเดียว (รัชนี, 2545)
- การฉีดวัคซีนกระตุ้น (booster) เป็นการปิดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นในการฉีดวัคซีนครั้งแรก มีคำแนะนำดังนี้ (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
โค ให้ฉีดวัคซีน ครั้งแรกในลูกโค อายุ 46 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 57 เดือน และครั้งต่อไปทุก 6 เดือน (ระยะเวลาจากเข็มแรกสองสาม จึงห่างกัน 34 สัปดาห์ และ 6 เดือน)
สุกรให้ฉีดวัคซีนครั้งแรกในลูกสุกรอายุ 8 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 1012 สัปดาห์ และครั้งต่อไป เมื่ออายุ 45 เดือน (ระยะเวลาจากเข็มแรกสองสาม จึงห่างกัน 2 สัปดาห์ และ 23 เดือน)
- การฉีดวัคซีนซ้ำ (revaccination) เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันของสัตว์ที่ลดลงตามธรรมชาติ ให้คืนสู่ระดับมีภูมิคุ้มโรคอีกครั้งหนึ่ง สำหรับ FMD มีช่วงเวลาในการฉีดวัคซีนซ้ำทั้งในโคและสุกรเฉลี่ยทุก 6 เดือน และสามารถใช้การฉีดวัคซีนซ้ำในการฉีดแบบวงแหวนด้วย (Donaldson and Kitching, 1989)
- ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการฉีดวัคซีนครั้งแรกเพียงครั้งเดียวสัตว์จะไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หากสัตว์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สำหรับวัคซีน FMD ของกรมปศุสัตว์ การฉีดด้วยโดสปกติเพียงครั้งเดียว สามารถทำให้ทั้งโคและสุกรมีความคุ้มโรค โดยไม่แสดงอาการป่วยและวิการ ภายหลังการฉีดพิษทับที่ระยะ 3 สัปดาห์ (วิไลและคณะ, 2544)
- การฉีดวัคซีนครั้งเดียวในขนาดมากกว่าที่ระบุตามฉลาก (overdose) หรือฉีด 2 ครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกัน (doubledose) เป็นการใช้วัคซีนในทางที่ผิด ไม่มีผลดีในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
- วัคซีน FMD ทั้งในโคและสุกร เป็นชีวภัณฑ์ที่่ต้องมีหลักการในการใช้ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในขณะเกิดอุบัติการมีข้อพิจารณาแตกต่างจากการฉีดป้องกันโรคล่วงหน้า การใช้วัคซีนผิดสถานที่และเวลาอาจทำให้สถานการณ์ระบาดเลวร้ายลง
การฉีดวัคซีนแบบวงแหวน
- การฉีดวัคซีนแบบวงแหวน (ring vaccination) เป็นวิธีสร้างแนวของภูมิคุ้มกันโรค (immune belt) ล้อมรอบอุบัติการโรคโดยฉีดวัคซีนล้อมบริเวณปนเปื้อน ใช้ในการปิดล้อมโรคที่แพร่กระจายรวดเร็ว เหมาะจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในบริเวณปนเปื้อนได้ หรือใช้เป็นมาตรการเสริมในกรณีที่ไม่อาจทำลายสัตว์ป่วย
- การฉีดวัคซีนวงแหวนเป็นการประยุกต์แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันฝูงมาใช้ในการควบคุมอุบัติการ เพื่อให้สัตว์ที่ได้รับวัคซีนเป็นแนวกันชนให้สัตว์ปกติที่อยู่ภายนอกแนววงแหวน สัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันจะเป็นแนวขวางการติดโรค ทำให้โรคจะค่อยจางหายไปเมื่อกระทบกับแนววงแหวน การฉีดวัคซีนวงแหวนจึงเป็นการฉีดวัคซีนเชิงยุทธวิธีเพราะความมุ่งหมายหลักจะอยู่ที่การป้องกันสัตว์ ปกติที่อยู่ภายนอกวงแหวน ไม่ได้มุ่งหวังเพียงป้องกันสัตว์ที่ได้รับวัคซีน (Hoover, 1983)
- การฉีดวัคซีนวงแหวนจะใช้ไม่ได้ผลในสภาพ ดังนี้
1) สัตว์ที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคมีสัดส่วนน้อยเกินไป
2) สัตว์ป่วยมีจำนวนมากซึ่งทำให้ปริมาณเชื้อปนเปื้อนสูง
3) ระยะเวลาสร้างภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ ทำให้เกิดลูกโซ่การถ่ายทอดเชื้อจาก สัตว์ป่วยสัตว์ที่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อสัตว์ปกติ
4) มีการกระจายเชื้อโดยการปนเปื้อนพาหะ หรือไม่กักกันสัตว์ป่วย (Hutber et al., 1998)
- ควรแยกสัตว์ที่อยู่รอบนอกออกจากสัตว์ในเขตฉีดวัคซีน อย่างน้อย 21 วัน (Donaldson and Kitching, 1989)
- แนวภูมิคุ้มกันโรคควรมีความกว้าง 20-50 กม. และใช้เวลาฉีดวัคซีนภายใน
1 สัปดาห์ (Geering et al., 1999) ในบางประเทศการฉีดวัคซีนวงแหวน เป็นมาตรการสำรองใช้ในการปิดล้อมโรค ในขณะที่ใช้การทำลายสัตว์ป่วยในตำแหน่งปนเปื้อนเป็นหลัก (AUSVETPLAN, 2000)
- การเว้นว่างตำแหน่งตรงกลางในการฉีดแบบวงแหวน หรือการไม่ฉีดวัคซีนในบริเวณปนเปื้อน มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ
1) วัคซีนมีคุณสมบัติเป็นสิ่งแปลกปลอม (antigenic) ต่อร่างกาย สัตว์ที่ได้รับวัคซีนจะมีปฏิกริยาตอบสนองและเกิดความเครียด (Wroot, 2001) ลดการทำงานของต่อมหมวกไต เป็นการลดภูมิคุ้มกันทั่วไป (non-specific immunity) สภาพอ่อนแอชั่วขณะนี้ทำให้ความทนทานต่อปริมาณเชื้อขั้นต่ำ (infectious dose) ลดลง หากสภาพแวดล้อมมีการปนเปื้อนอยู่แล้ว สัตว์จะแสดงอาการป่วยอย่างรวดเร็ว จึงพบว่าการฉีดวัคซีนให้สัตว์ในตำแหน่งปนเปื้อนทำให้สัตว์ป่วยเป็นจำนวนมาก
2) เมื่อสัตว์ป่วยเพิ่มขึ้น ปริมาณเชื้อในสภาพแวดล้อมจะเพิ่มขึ้น ทำให้สัตว์ที่อยู่ใน บริเวณปนเปื้อนมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะป่วยตามกันเป็นลูกโซ่
3) เมื่อสัตว์ในตำแหน่งปนเปื้อนป่วยจนหมด สัตว์ที่หายป่วยจะเป็น carrier กลายเป็นแหล่งโรคในการแพร่กระจายไปที่อื่นต่อไป
- เมื่อไม่แน่ใจในขอบเขตของตำแหน่งปนเปื้อน ในทางปฏิบัติจึงได้มีคำแนะนำแต่ก่อนมาให้ฉีดวัคซีนจากด้านนอก เข้ามาหาด้านในซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของโรค
ปัญหาวัคซีนไม่ได้ผล
วัคซีนที่มีคุณภาพต้องทำให้โดยสัตว์กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจะต้องป่วยเป็นโรคน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ การทดสอบจะทำในการทดลองที่ควบคุมสภาพ สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์ ไม่มีความเครียดอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี แต่วัคซีนอาจไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้อย่างแน่นอนทุกสถานการณ์ในท้องที่ และมีประสิทธิภาพลดลงมากเมื่อสัตว์อยู่ใต้สภาพเครียด มีการเลี้ยงหนาแน่น หรือมีการสุขาภิบาลที่ไม่ดี ความต้านทานโรคที่วัคซีนสร้างขึ้นนี้สามารถถูกลบล้างหรือถูกข่มได้หากไม่มีการจัดการดูแลที่ดีเพียงพอ ปฎิกริยาระหว่างเชื้อโรคและโฮสต์มีความซับซ้อน ทำให้วัคซีนอาจไม่มีประสิทธิภาพได้ดังในการทดลอง สาเหตุส่วนใหญ่ของการใช้วัคซีนไม่ได้ผลเป็นดังนี้ (Roth, 1999)
- มีเวลาไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ต้องใช้เวลา 3-4 สัปดาห์กว่าที่ สัตว์ได้รับวัคซีนจะมีความคุ้มโรค ดังนั้นหากมีการสัมผัสเชื้อในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะแสดงอาการป่วย ในสถานการณ์เช่นนี้ จะพบอาการป่วยในเวลาอันรวดเร็วหลังจากฉีดวัคซีน หรือพบอาการป่วยก่อนถึงกำหนดมีภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดว่าฉีดวัคซีนแล้วทำให้ป่วยเป็นโรค
- มีความบกพร่องเกิดขึ้นกับวัคซีน การเก็บรักษาวัคซีนและการใช้วัคซีนที่ไม่ถูกต้องทำให้ไม่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีน FMD ง่ายต่อการเสื่อมคุณภาพ จำเป็นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4๐C การเก็บรักษาวัคซีนจนถึงก่อนฉีดเข้าสู่ร่างกายสัตว์จะต้องอยู่ในสภาพที่เย็น (cold chain) โดยตลอด แม้การเก็บวัคซีนอยู่ในสภาพที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้วก็ตาม วัคซีนก็จะเสื่อมสภาพลงไปโดยปกติตลอดเวลา ดังนั้นวัคซีนที่ล่วงเลยจากวันหมดอายุที่ระบุในฉลากจึงไม่ควรนำมาใช้
- ปัจจัยของโฮสต์ สัตว์ที่ไม่พร้อมจะตอบสนองต่อวัคซีน ดังเช่นกรณีการให้วัคซีนในสัตว์อายุน้อย ซึ่งจะมีสภาวะการกดภูมิคุ้มกัน (immunosup-pression) จากภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ผ่านทางนมน้ำเหลือง ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจะไม่เพียงพอในการต้านต่อปริมาณไวรัสในอุบัติการซึ่งมีปริมาณมาก แต่จะต้านวัคซีนซึ่งเป็นเชื้อที่หมดฤทธิ์ไว้ได้ เป็นสาเหตุของการติดโรคในช่วงระหว่างลูกสัตว์จะสิ้นภูมิจากแม่และก่อนที่จะได้รับวัคซีน
หากฉีดวัคซีนเร็วเกินไปก็อาจไม่ได้ผลเนื่องจากแอนติบอดีจากแม่จะต่อต้าน แต่หากรอให้แอนติบอดีจากแม่หมดลงก็อาจสายเกินไป ระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนสัตว์อายุน้อยจึงไม่แน่นอน อีกทั้งการฉีดวัคซีนซ้ำหลายครั้งก็ไม่มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติ จึงควรคำนึงถึงและหาทางแก้ไขสิ่งที่ทำให้มีผลเป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อ ได้แก่ การลดความหนาแน่นในการเลี้ยง
และเพิ่มมาตรการทางสุขาภิบาลควบคู่กันไปด้วย เป็นต้น
- สภาพกดภูมิคุ้มกัน ความไม่สมบูรณ์ของระบบภูมิคุ้มกันจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด ขาดอาหาร การติดโรคอื่นอยู่ก่อน จึงไม่ควรให้วัคซีนในสัตว์ที่อยู่ในสภาพอ่อนแอตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ป่วย สัตว์ไม่แข็งแรง สัตว์ท้องแก่
สภาพกดดันต่อระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในขณะได้รับวัคซีน และหลังจากได้รับวัคซีน ทำให้เกิดผลที่คล้ายคลึงกัน ถ้าสภาพกดภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นในขณะได้รับวัคซีน สัตว์ก็จะป่วยเนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น แต่ถ้าสภาพกดภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน สัตว์ก็อาจป่วยได้เช่นกันเนื่องจากการตอบสนองที่เพียงพอได้เกิดขึ้นแล้วแต่กลับลดลง ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพจึง มีความสำคัญตลอดเวลา ภาระกิจในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจึงไม่สิ้นสุดเพียงการฉีดวัคซีนเท่านั้น
- เชื้อมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับได้ (exposure to overwhelming challenge dose) วัคซีนไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ แต่จะเพิ่มความสามารถในการทนต่อเชื้อโรค แต่หากมีปริมาณเชื้อมากอย่างท่วมท้น ระบบภูมิคุ้มกันก็ไม่สามารถรับได้ทำให้ป่วยได้ในที่สุด
- ช่วงเวลาคุ้มโรคไม่เพียงพอ การตอบสนองต่อวัคซีนโดยทั่วไปถึงจุดสูงสุดระหว่าง 26 สัปดาห์ หลังการฉีดวัคซีน หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะค่อยลดระดับลง ถ้าสัตว์ไม่มีการตอบสนอง อย่างเต็มที่ในขั้นต้นเนื่องจากความเครียดขณะให้วัคซีน หลังจากฉีดวัคซีนนานหลายเดือนก็อาจไม่มีภูมิคุ้มกันเหลือเพียงพอ การป้องกันในระยะยาวจึงต้องอาศัยการฉีดวัคซีนซ้ำ
- ความแตกต่างของแอนติเจน ระหว่างวัคซีนและเชื้อที่ระบาดในท้องที่สำหรับวัคซีนเชื้อตาย ความแตกต่างกันนี้จะทำให้การใช้วัคซีนไม่ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัส FMD ซึ่งมีโอกาสสูงในการกลายพันธุ์
ข้อจำกัดและผลกระทบของวัคซีน FMD
- การสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นกลไกทางชีววิทยา สัตว์ทุกตัวที่ได้รับวัคซีนชนิดเดียวกัน ในขนาดที่เท่ากัน ไม่มีทางที่จะตอบสนองในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เท่าเทียมกัน เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีมากมาย สัตว์ส่วนใหญ่จะมีความคุ้มโรคอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ส่วนน้อยอยู่ในเกณฑ์ดีเลิศ และเกณฑ์ภูมิคุ้มกันต่ำมาก หรือไม่มีภูมิคุ้มกันโรค (รัชนี, 2545)
- ภูมิคุ้มกันโรคมีความลดหลั่นในเชิงปริมาณเป็นระดับ สำหรับ FMD สัตว์ตัวใดที่มีภูมิคุ้มกันในระดับสูงจะสามารถยับยั้งและขจัดเชื้อไวรัสได้ ส่วนที่มีภูมิคุ้มกันในระดับรองลงมาเมื่อติดเชื้อก็อาจไม่แสดงอาการป่วย (subclinical) แต่ยังมีเชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในร่างกายและเก็บเชื้อไว้ในร่างกายได้ (post vaccination carriers) ส่วนที่ภูมิคุ้มกันต่ำมากก็จะป่วย สัตว์ที่รับวัคซีนจึงยังคงสามารถถ่ายทอดโรคได้ แต่ไม่มากเท่าสัตว์ป่วย (Donaldson and Kitching, 1989; Watkins, 2001) ทั้งนี้อาจเนื่องจากระยะเวลารับเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนที่สั้นเกินไป (Hutbert et al., 1998)
วัคซีน FMD
จึงไม่ได้เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ (transmission blocking vaccines) แต่วัคซีน FMD คุ้มครองสัตว์จากโรค หรือลดจำนวนสัตว์ป่วยได้ (AUSVETPLAN, 2000; Gay, 2001) และสัตว์ที่ ได้รับวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อก็จะขับเชื้อในปริมาณที่น้อยกว่า และในระยะเวลาที่สั้นลง
(Hutbert et al., 1998)
- การที่สัตว์ได้รับวัคซีนแล้วยังสามารถให้เชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ เป็นช่องทางหนึ่งของสถานะ carrier ของโรคที่เอื้ออำนวยให้ไวรัสกลายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่บางประเทศที่มีเป้าหมายในการกวาดล้างโรค FMD จะไม่ฉีดวัคซีน
- การที่สัตว์สัมผัสเชื้อหลังรับวัคซีนยังคงมีโอกาสติดเชื้อ (post- vaccination carriers) แม้จะขับเชื้อในปริมาณน้อยกว่าสัตว์ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ทั้งสองพวกก็ล้วนแต่สร้างแอนติบอดี ข้อโต้แย้งในการฉีดวัคซีนในบางประเทศคือปัญหาของการแยกแยะสัตว์เหล่านี้ ปัจจุบันแม้มีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อสัตว์ที่ได้รับวัคซีนป่วยหรือติดเชื้อก็
จะไม่มีความแตกต่างที่จะสามารถแยกแยะได้อีกต่อไป ดังนั้นในอีกแง่หนึ่งการฉีดวัคซีนจึงเป็นการปิดบังสภาพที่มีโรคแฝงอยู่
- โดยทั่วไปแล้ว โรคที่มีลักษณะ 1) ติดต่อรวดเร็ว 2) มีความผันแปรทางคุณสมบัติ (antigenic variation) 3) มีสัตว์รังโรคและแหล่งรังโรคในสิ่งแวดล้อม (animal, environmental reservoirs) จะมีโอกาสน้อยมากที่จะกำจัดโรค (eradication) โดยใช้มาตรการวัคซีนเพียงประการเดียว
(Abbas et al., 1994)
- สำหรับ FMD การใช้มาตรการวัคซีนเพียงประการเดียวจะไม่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคในพื้นที่มี FMD เกิดอยู่เสมอ (endemic) (Kitching and Salt, 1995)
ภูมิคุ้มกันฝูง
ภูมิคุ้มกันฝูง (herd immunity) เป็นปรากฏการณ์ที่จะช่วยลดการติดโรคในฝูงประชากรจากการที่ประชากรเพียงบางส่วนมีภูมิคุ้มกันโรค ภูมิคุ้มกันฝูงช่วยป้องกันตัวปกติที่ไวต่อโรคไม่ให้เป็นโรคโดยทางอ้อม ทำให้ตัวที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคในตัวเองรอดจากโรคได้
(Miles, 1990; Panagiotopoulus, 2002) อธิบายได้ด้วยแผนภูมิ ดังนี้
สมมติว่ามีโรคที่ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงถูกนำเข้าสู่ประชากรซึ่งสมาชิกทุกตัวไวต่อโรค หากตัวป่วย 1 ตัว ถ่ายทอดโรคให้ตัวปกติ 3 ตัว โดยเฉลี่ยโรคจะกระจายออกไปดังภาพ
ภาพที่ 22 การกระจายของโรคเมื่อทุกตัวไวต่อโรค สัญญลักษณ์ O ตัวปกติติดโรค
แต่ถ้าหากสมาชิกบางส่วนของประชากรมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว เช่น อาจได้รับวัคซีนมาก่อน จะเกิดผล 2 ประการ คือ
1) ตัวที่มีภูมิจะไม่ป่วยเป็นโรค ซึ่งเป็นผลโดยตรงของวัคซีน และ
2) การกระจายของโรคจะถูกขัดขวางเมื่อตัวเป็นโรคสัมผัสกับตัวที่มีภูมิ ถ้าสมาชิก 1/3 ของประชากรมีภูมิ ก็หมายความว่า โดยเฉลี่ย 1/3 ของการสัมผัสจะไม่ก่อให้เกิดโรค ทำให้ตัวที่ไวต่อโรคส่วนหนึ่งไม่ป่วยเป็นโรคแม้จะไม่มีภูมิ ดังนั้น จึงมีตัวที่ไวต่อโรคจำนวนหนึ่งที่ถูกป้องกันโดยทางอ้อมเนื่องจากตัวที่สัมผัสอยู่เป็นตัวที่มีภูมิ
ภาพที่ 23 การกระจายของโรคเมื่อสมาชิก 1/3 ไวต่อโรค สัญญลักษณ์ O คือตัวปกติติดโรค, คือตัวที่ได้รับวัคซีน ไม่ติดโรคเนื่องจากมีภูมิคุ้มกัน, ->O คือตัวปกติที่ไวต่อโรค ไม่ติดโรคเนื่องจากถูกป้องกันโดยทางอ้อม
Previous
Next