1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>โรคระบาด>โรคปากและเท้าเปื่อย>ถามกันบ่อย


โรคปากและเท้าเปื่อย : ถามกันบ่อย



คืออะไร ?

โรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease, FMD) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลัน ทำให้เกิดไข้สูง และเม็ดตุ่มน้ำใสพุพองที่ช่องปากและไรกีบเท้า โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสซึ่งแบ่งได้เป็น 7 ชนิด แต่จะตรวจได้โดยอาศัยห้องปฏิบัติการเท่านั้น


ติดต่ออย่างไร ?

พบเชื้อไวรัสปริมาณมากในน้ำจากเม็ดตุ่มน้ำใส น้ำลาย มูลสัตว์ การปนเปื้อนกับสิ่งคัดหลั่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง สัตว์เป็นโรคจะขับไวรัสได้แก่นที่จะพบอาการป่วย
การกระจายไปทางอากาศในระยะทางไกลสามารถเกิดขึ้นได้ในภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย แต่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตศูนย์สูตร มีอากาศร้อนอบอ้าว การแพร่กระจายวิธีนี้มีความสำคัญน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่กระจายโดยการปนเปื้อนพาหะ
สัตว์จะรับเชื้อไวรัสโดยการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งปนเปื้อน หรือสัมผัสกับส่วนของซากสัตว์ติดเชื้อ
โรคแพร่กระจายออกไปโดยการเคลื่อนย้ายสัตว์ บุคคล ยานพาหนะ หรือสิ่งใดก็ตามที่สัมผัสเชื้อไวรัส การปนเปื้อนจะผ่านลงสู่แหล่งกระจายโรค เช่น ถนน ทำเลสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้โรคแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
รองเท้าบูท เสื้อผ้า มือ ของผู้เลี้ยง สุนัข แมว เป็ดไก่ หนู ที่สัมผัสแหล่งปนเปื้อนจะสามารถนำพาเชื้อไวรัสไปได้


ประเทศใดมีโรค ?

FMD มีอยู่ในเอเซียบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย อัฟริกา อเมริกาใต้ และระบาดเป็นครั้งคราวในประเทศที่ปลอดโรคแล้ว


คนติดโรคไหม ?

โดยปกติแล้วคนไม่ติดโรคนี้ โรคนี้ไม่มีผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ มีโรคในคนที่เรียกว่า โรค มือ ปาก เท้า จะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และจะไม่เป็นในสัตว์


สัตว์ชนิดใดเป็นโรค ?

โค กระบือ แพะ แก สุกร ไวต่อโรคนี้ สัตว์ป่าที่มีกีบเท้าคู่ และช้าง สามารถป่วยเป็นโรคนี้ได้



อาการเป็นอย่างไร ?

ตุ่มน้ำใสพุพองในช่องปาก และไรกีบ เป็นอาการหลัก แต่จะมีความแตกต่างกันในสัตว์แต่ละชนิด
โค กระบือ ไข้ ซึม ไม่กินอาหาร น้ำนมลด ขากะเผลก ไม่รวมฝูง น้ำลายไหลยืดเป็นฟอง
แพะ แกะ ไข้ ขากะเผลก ไม่ลุกยืน มักไม่ค่อยเห็นอาการที่ช่องปาก
สุกร ไข้ ซึม ไม่กินอาหาร ขากะเผลก เห็นตุ่มน้ำใสพุพองที่ปลายจมูกและลิ้น


เชื้อไวรัสมีกี่ชนิด ?

มี 7 ชนิดหลัก ได้แก่ O, A, C, SAT1, SAT2, SAT3 และ Asia1 แต่ละชนิดยังแบ่งเป็นชนิดย่อยได้อีก ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 3-8 วัน สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคด้วยเชื้อชนิดใด จะมีภูมิคุ้มกันโรคเฉพาะเชื้อชนิดนั้นไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดอื่น จึงสามารถป่วยซ้ำได้อีกถ้าเป็นเชื้อต่างชนิดกันในครั้งหลัง


ทำลายเชื้อได้อย่างไร ?

เชื้อถูกทำลายได้ด้วยแสงแดด ความร้อน สภาพแห้ง ยาฆ่าเชื้อ แต่เชื้อจะมีฤทธิ์ได้ในสภาพที่เหมาะสม เช่น เนื้อจากซากสัตว์เป็นโรคแช่แข็ง วัตถุที่แปดเปื้อน ความเย็นและมืด สภาพเหล่านี้สามารถทำให้เชื้อมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน


โรคนี้ทำให้เกิดผลอย่างไร ?

โดยปกติ FMDไม่ทำให้เจ็บป่วยถึงตาย ยกเว้นในลูกสัตว์ขนาดเล็ก
ผลกระทบของโรคนี้มีความรุนแรง โดยจะทำให้สัตว์ป่วยไม่คืนสภาพปกติเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโคนมจะทำให้น้ำนมลด


รักษาได้ไหม ?

ไม่มีการรักษาโรคนี้ยกเว้นการรักษาตามอาการเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน สัตว์ป่วยจะกลับหายเป็นปกติในเวลา 2-3 สัปดาห์


ควบคุมโรคได้อย่างไร ?

วิธีควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือทำลายสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค และสัตว์ที่ได้สัมผัสโรคแล้ว ห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกเขตติดเชื้อ นอกจากนั้นอาจใช้การฉีดวัคซีนเพื่อปิดล้อมอุบัติการ จะช่วยให้โรคจางหายไป หากไม่สามารถทำลายสัตว์ได้ก็จะต้องใช้วิธีการกักขัง แยก ย้ายสัตว์ป่วย เพื่อป้องกันการสัมผัสกับตัวอื่น



เกษตรกรป้องกันโรคได้อย่างไร ?

วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันการนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ บุคคล สิ่งของที่จะเข้ามาในฟาร์มตนเอง ล้างฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวด
เมื่อจะนำสิ่งใด (คน สัตว์ สิ่งของ) เข้าสู่ฟาร์มให้นึกเสียว่าโลกภายนอก "ติดเชื้อ" และฟาร์มของเรา "สะอาด"
วิธีอื่น ๆ ได้แก่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่สัตว์เลี้ยง โดยเฉลี่ย 6 เดือนครั้ง


ใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างไร ?

1. ต้องเป็นยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์ต่อ FMD
2. ต้องเป็นยาฆ่าเชื้อที่มีทะเบียนยา
3. ไม่ผสมยาฆ่าเชื้อหลายชนิดเข้าด้วยกัน
4. ชำระล้างสิ่งที่จะฆ่าเชื้อให้สะอาดเสียก่อน
5. เตรียมยาฆ่าเชื้อให้มีความเข้มข้นถูกต้องตามฉลากยา


ล้างรถทุกวันพอไหม ?

การฉีดพ่นล้างรถจะชะล้างสิ่งสกปรกออกแต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส นอกจากนั้นเชื้อโรคจะถูกชะล้างตามน้ำล้างไปสู่บริเวณข้างเคียง


จุดไหนในฟาร์มที่ต้องระวัง ?

ไวรัสอยู่รอดในสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในบริเวณที่มีมูลสัตว์และน้ำล้างจากคอกสัตว์ และจะมีฤทธิ์อยู่ได้นานหลายเดือน ไวรัสจะกระจายโดยการปนเปื้อนหญ้า ฟาง และแปลงหญ้าได้เป็นเวลานาน


สัตว์ป่วยแพร่เชื้อได้นานแค่ไหน ?

สัตว์ป่วยจะขับเชื้อไวรัสออกตามสิ่งคัดหลั่งในร่างกาย ในระยะที่สัตว์ป่วยแสดงอาการนี้จะทำให้สัตว์อื่นติดโรคได้ง่ายที่สุด หลังจากนั้นร่างกายสัตว์จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันโรคและสัตว์จะสร้างไวรัสได้น้อยลงไม่เพียงพอต่อการก่อโรค


สัตว์นำโรคมีความสำคัญอย่างไร ?

สัตว์นำโรค (carrier) คือสัตว์ป่วยที่สามารถตรวจพบไวรัสในตัวได้ที่ระยะเวลาเกินกว่า 28 วันหลังพบโรค ในวัวเคยพบนานถึง 3 ปี ในแกะเคยพบนานถึง 9 เดือน


วัคซีนใช้ได้ผลไหม ถ้าไม่ได้ฉีดทุกตัว ?

ในการใช้วัคซีนป้องกันโรค FMD จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80-85 % ของจำนวนสัตว์ทั้งหมด


สัตว์ที่ฉีดวัคซีนแล้วนำโรคได้ไหม ?

วัคซีน FMD เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายจึงไม่ทำให้สัตว์เป็น carrier แต่วัคซีน FMD ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ หากสัตว์ฉีดวัคซีนแล้วได้รับเชื้อ อาจพบเชื้อได้จากช่องคอหอย ซึ่งทำให้สามารถขับเชื้อไวรัสให้สัตว์ตัวอื่นได้ในระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากติดเชื้อ
สัตว์ที่ฉีดวัคซีนอาจเป็น carrier ได้ในระยะเวลานาน แต่ยังไม่พบว่าสัตว์ฉีดวัคซีนที่เป็น carrier จะสามารถขับเชื้อให้ตัวอื่น



วัคซีนคืออะไร ใช้อย่างไร ?

วัคซีน FMD เป็นวัคซีนเชื้อตาย กรมปศุสัตว์ได้ผลิตวัคซีน 2 ชนิด
1. วัคซีนสำหรับ โค กระบือ แพะ แกะ (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
เป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำ (aqueous vaccine) ชนิดรวม 3 ไทป์ โอ เอ และเอเซียวัน ผลิตจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเตรียมจากเซลเพาะเลี้ยง ทำให้เข้มข้นและบริสุทธิ์ และทำให้หมดฤทธิ์ ด้วยสาร Binary Ethylene Imine (BEI)
วิธีใช้ฉีดปีละ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน หรือ ฉีดวัคซีนครั้งแรก ตั้งแต่อายุ 4–6 เดือน ฉีดครั้งที่สอง หลังฉีดครั้งแรก 3–4 สัปดาห์
ขนาดฉีด ตัวละ 2 มล. เข้าใต้ผิวหนัง
ความคุ้มโรคสัตว์จะมีความคุ้มโรคหลังฉีด 3-4 สัปดาห์ และมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 6 เดือน
ขนาดบรรจุขวดละ 150 มล. (75 โดส)
* วัคซีนสำหรับโค กระบือ แพะ แกะ เป็นวัคซีนที่รัฐผลิตให้เกษตรกรใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โปรดติดต่อรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัดใกล้บ้านท่าน

2. วัคซีนสำหรับสุกร (กองผลิตชีวภัณฑ์, 2543)
เป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดน้ำมัน ชนิดรวม 3 ไทป์ โอ เอ และเอเซียวัน ผลิตจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเตรียมจากเซลเพาะเลี้ยง ทำให้เข้มข้นและบริสุทธิ์ และทำให้หมดฤทธิ์ ด้วยสาร Binary Ethylene Imine (BEI)
วิธีใช้ ฉีดตามระยะการผลิต สุกรขุน ฉีดตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ (ครั้งแรก 8 สัปดาห์ และ ครั้งที่สอง 10–12 สัปดาห์) ส่วนสุกรพ่อแม่พันธุ์ ฉีดปีละ 2–3 ครั้ง ก่อนผสมพันธุ์
ขนาดฉีด ตัวละ 2 มล. เข้ากล้ามเนื้อ
ความคุ้มโรคสัตว์จะมีความคุ้มโรคหลังฉีด 3-4 สัปดาห์ และมีความคุ้มโรคอยู่ได้นาน 6 เดือน
ขนาดบรรจุขวดละ 150 มล. (75 โดส)
ส่วนวัคซีนสุกรรัฐผลิตออกจำหน่ายให้เกษตรกรในราคา ขวดละ 1,125 บาท (ฉีดได้ 75 ตัว)
โปรดติดต่อขอซื้อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอและจังหวัดใกล้บ้านท่าน.


วัคซีนทำให้เชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ ?

วัคซีนเชื้อตายไม่ทำให้เชื้อกลายพันธุ์ หรือทำให้สัตว์เป็นโรค แต่หากสัตว์เป็นโรคภายหลังจากฉีดวัคซีนเป็นกรณีวัคซีนไม่ได้ผลไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เพียงพอ


แจ้งข่าวสัตว์ป่วยได้ที่ไหน ?

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่ง ดังนี้


ค่าบริการสัตว์ป่วยเท่าไร ?

เมื่อเกิดโรคขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร ทางรัฐจะดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด โดยเป็นบริการที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ