1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที 9  กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>หออนุสรณ์>พระราชบัญญัติสำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะ ร,ศ,๑๑๙


พระราชบัญญัติสำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙


(“พระราชบัญญัิติฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นฉบับที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ต่อมาไม่ได้บังคับใช้และไม่ได้ถูกยกเลิก โดยในปี พ.ศ.๒๔๗๔ มีการตราพระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ พ.ศ.๒๔๗๔ ขึ้นต่างหาก โดยมีเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมมีหน้าที่รักษาการ โดยมิได้มีการอ้างถึงความเกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติฉบับเดิมซึ่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการ ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน มีการแยกกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมออกเป็นกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรพาณิชย์ หลังจากนั้นก็ยังมีการตราพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรมีหน้าที่รักษาการ ยกเลิกพระราชบัญญัติโรคระบาดปศุสัตว์และพาหนะ พ.ศ.๒๔๗๔ ตราบจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๔๕ นี้เอง ที่ประชุมรัฐสภาได้ตรา พ.ร.บ.ยกเลิกกฏหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับการปัจจุบัน ยกเลิกพระราชบัญญัติสำหรับตรวจป้องกันโรคสัตว์พาหนะนี้เสียพร้อมกับกฏหมายอื่น”)



(จากหนังสือรวมประกาศราชบัญญัติ แล พระราชกำหนดต่าง ๆ รัชการที่ ๕ ปี ร,ศ, ๑๑๙ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ กรุงเทพฯ น.๙๕-๑๐๐)


  มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พรจุลจอมเกล้าเ้จ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๕ มีโรคซึ่งเปนอันตรายติดเนื่องกันได้ ในหมู่สัตว์พาหนะซึ่งบันทุกเรือออกไปเมืองต่างประเทศ แลที่ฆ่าเอาเนื้อเปนอาหาร เกิดชุกชุมขึ้นอันจะเปนเหตุให้บังเกิดโรค แก่มนุษย์แลเสียทรัพย์สมบัติของคนค้าขายนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสำหรับป้องกันโรคสัตว์พาหนะ ขึ้นไว้ชั่วสมัยหนึ่ง แลให้มีเจ้าพนักงานแพทย์ตรวจสัตว์พาหนะ แลจัดการป้องกันต่อ ๆ มา

  บัดนี้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า มีพวกค้าขายพากันซื้อโคส่งออกไปขาย ณ เมืองต่างประเทศมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มีจำนวนโคที่ได้ส่งมาแต่หัวเมืองในมณฑลต่าง ๆ เข้ามาในกรุงเทพฯ ทวีอยู่เสมอทุก ๆ เดือน นับว่าเปนสินค้าอย่างหนึ่งที่เจริญขึ้น แลการที่จะมีเจ้าพนักงานแพทย์คอยตรวจตราป้องกันโรคอยู่นั้น เปนทางที่ดีสมควรจะจัดการนั้นให้แขงแรงตามกาลสมัย แห่งความสมบูรณ์ของพระนครสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานกรมศุขาภิบาลจัดสฐานที่สำหรับตรวจสัตว์พาหนะ ขึ้นไว้ ณ ที่อันสมควร ตำบลบางคอแหลม ให้มีโรงเลี้ยงสัตว์ โรงสำหรับฆ่าสัตว์เปนอาหาร โรงสำหรับขังสัตว์ที่มีโรค ทั้งสะพานซึ่งสำหรับจะบันทุกสัตว์พาหนะ ที่เรือใหญ่เล็กจะจอดรับแลส่งสัตว์พาหนะได้โดยสดวก เหตุฉนี้จึงเปนการสมควร ที่จะต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้เปนข้อบังคับสำหรับการนั้นต่อไปดังนี้

  มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันโรคสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙” ให้ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ได้ลงพิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตามพระบรมราชโองการเปนต้นไป

  มาตรา ๒ ให้ยกเลิกประกาศลงวันที่ ๑๙ มกราคม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๔ ซึ่งตั้งโดยพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ แลพระราชบัญญัติสำหรับป้องกันโรคสัตว์พาหนะที่ได้แก้ไว้รัตนโกสินทร ศก ๑๑๕ นั้นเสียตั้งแต่วันที่จะได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้

  มาตรา ๓ บรรดาโคกับกระบือทั้งปวง ที่มีผู้นำเอาเข้ามาในกรุงเทพมหานครนี้ ให้เอาขึ้นบกได้แต่ฉะเพาะที่ท่าโรงเลี้ยงสัตว์ของรัฐบาล ตำบลบางคอแหลมแห่งเดียวเว้นไว้แต่เจ้าพนักงานแพทย์ได้ให้อนุญาตพิเศษให้เอาขึ้นที่อื่นจึงจะเอาขึ้นได้ แลเมื่อโคหรือกระบือนั้นได้ขึ้นยังท่าขึ้นแล้วต้องให้เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจเสียในขณะนั้น

  มาตรา ๔ โคกับกระบือนั้น ให้เอาขึ้นบกได้ในชั่วระหว่างเวลาตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึงย่ำค่ำ เว้นไว้แต่เจ้าพนักงานได้ให้อนุญาตพิเศษจึงจะเอาขึ้นบกได้นอกจากเวลากำหนดนี้

  มาตรา ๕ บรรดาโคกระบือทั้งปวง ที่เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจเห็นว่ามีอาการป่วยเปนโรคแล้วจะคัดไว้ในโรง สำหรับขังสัตว์ที่มีอาการป่วย ถ้าแลเจ้าพนักงานแพทย์เห็นว่าโคกระบือตัวใดมีอาการป่วยเป็นโรคที่จะติดเนื่องไปได้แล้ว เจ้าพนักงานแพทย์จะสั่งให้ฆ่าโคกระบือตัวนั้นฝังเสีย ก็ให้เจ้าของนั้นกระทำตามคำสั่งของนายแพทย์นั้นทุกประการ

  มาตรา ๖ เจ้าของสัตว์ซึ่งจะฆ่าโคกระบือ เอาเนื้อเปนอาหารนั้นให้เสียค่าใบอาชญาบัตรโคศีศะละ ๒ บาท กระบือศีศะละ ๕ บาท แลลูกโคสูงใน ๓ ฟิต ศีศะละ ๑ บาท ๓๒ อัฐ รวมทั้งค่าเช่าที่พักอาไศรยในโรงเลี้ยงแลโรงฆ่าของรัฐบาลในกำหนด ๘ วันนั้นด้วย

  มาตรา ๗ ตามความในประกาศที่ ๓ ของกรมศุลกากร ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ เรียกภาษีขาออก บรรดาสัตว์พาหนะ ที่จะบันทุกออกไปเมืองต่างประเทศตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๐ มาตรา๑๔ มีราคาค่าภาษีคือ โคตัวละ ๒ บาท กระบือตัวละ ๓ บาท ซึ่ฃได้ประกาศเรียกภาษีนั้น ต่อไปให้เรียกค่าธรรมเนียมแพทย์ตรวจด้วยอีก คือโคตัวละ ๑ บาท กระบือตัวละ ๒ บาท รวมทั้งค่าเช่าที่พักอาไศรยในโรงเลี้ยงของรัฐบาลในกำหนด ๘ วัน ด้วย

  มาตรา ๘ บรรดาโคกระบือที่ส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยไม่คิดจะฆ่าเปนอาหารจะพักไว้ได้ในโรงเลี้ยงนั้นมีกำหนด ๘ วัน ไม่ต้องเสียค่าเช่า เมื่อแพทย์ได้ตรวจแล้วว่าสัตว์นั้นไม่มีโรค จึ่งให้เจ้าของสัตว์นั้นย้ายเอาไปเลี้ยงรักษาในที่อื่น ตามความเห็นชอบของเจ้าพนักงานแพทย์ได้

  แต่บรรดาโคนมแลลูกโคนั้น ต้องเลี้ยงรักษาในโรงเลี้ยงที่ตำบลถนนสีลมหรือตำบลอื่นซึ่งเจ้าพนักงานแพทย์ จะเห็นสมควรแลเปนที่ ๆ เจ้าพนักงานแพทย์ตรวจตราได้เสมอ แลเจ้าพนักงานแพทย์จะบังคับให้จัดการอย่างใดในส่วนนี้ เจ้าของโคต้องทำตามทุกอย่าง

  มาตรา ๙ ถ้าสัตว์โคกระบือตัวใด จะต้องพักอาไศรยอยู่ในโรงเลี้ยงสัตว์ เกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา ๖ มาตรา ๗ แลมาตรา ๘ นั้นแล้ว เจ้าของสัตว์จะต้องเสียค่าเช่าโรงที่ขังสัตว์แก่เจ้าพักงาน ศีศะละ ๘ อัฐ ทุก ๆ วัน ตามจำนวนวันที่สัตว์ต้องอยู่ในโรงนั้นเกินกว่า ๘ วันที่ได้กำหนดไว้

  มาตรา ๑๐ บรรดาสัตว์โคกระบือที่จะฆ่าเอาเนื้อขายเปนอาหารนั้น จะฆ่าได้แต่เฉพาะในโรงฆ่าสัตว์ของรัฐบาล แต่ถ้าจะฆ่าเพื่อประโยชน์ที่จะทำตามจารีตหรือในการอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากขายเนื้อที่ฆ่านั้นเปนประโยชน์แล้ว จะฆ่าในที่แห่งหนึ่งแห่งใดเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แลเสียค่าใบอาชญาบัตรตามอัตราในมาตรา ๖ แล้วจึงให้ฆ่าได้

  มาตรา ๑๑ บรรดาเนื้อสัตว์โคกระบือที่ได้ออกจากโรงฆ่าสัตว์นั้นให้เจ้าพนักงานทำเครื่องหมายเปนสำคัญ ว่าเปนเนื้อที่แพทย์ได้ตรวจเห็นควรเปนอาหารได้แล้ว ถ้าเจ้าพนักงานแพทย์จะเห็นว่าเนื้อรายใดไม่สมควรเปนอาหารจะสั่งให้ฝังเสียก็สั่งให้ทำได้

  ถ้าคนผู้ใดเอาเนื้อโคกระบือ ซึ่งได้ฆ่าโดยมิได้รับอนุญาตของเจ้าพนักงานก็ดี หรือซึ่งตายด้วยโรค หรือด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี คนผู้นั้นมีความผิดต้องด้วยโทษ ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัตินี้ แลต้องถูกริบเนื้อสัตว์นั้นด้วย

  บรรดาเนื้อสัตว์ทั้งตัวก็ดี หรือไม่ทั้งตัวก็ดี ซึ่งมิได้มีเครื่องหมายสำคัญของโรงฆ่าสัตว์นั้น ถ้ายังไม่มีพยานอย่างอื่นว่าเปนเนื้อสัตว์ที่ได้ฆ่าตามกฏหมายก็ให้ถือว่าเปนเนื้อสัตว์ที่ฆ่าโดยผิดต่อพระราชบัญญัตินี้

  มาตรา ๑๒ บรรดาสัตว์โคกระบือ ที่จะเอาไว้ในโรงเลี้ยงสัตว์นี้ เจ้าของสัตว์นั้น ๆ จะต้องดูแลรักษา แลเสียค่าอาหาสัตว์นั้นเองกับให้รักษาเฃตร ซึ่งสัตว์ของตนอยู่นั้นให้สอาด ทั้งต้องประพฤติตามข้อบังคับสำหรับโรงนั้นด้วย

  มาตรา ๑๓ เจ้าพนักงานใหญ่สำหรับโรงเลี้ยงสัตว์นี้ เมื่อได้บอกให้เจ้าของทราบแล้วจะเข้าไปเอง หรือจะสั่งให้เจ้าพนักงานรองเข้าไปตรวจในโรงหนึ่งโรงใด ซึ่งใช้เปนที่เลี้ยงสัตว์โคกระบือเพื่อจะได้ตรวจดูว่าเลี้ยงรักษาสัตว์โคกระบือนั้น สอาดดีพอเพียงที่จะป้องกันไม่ให้มีโรคเกิดขึ้นในหมู่สัตว์นั้นได้ทุกเวลา

  มาตรา ๑๔ ผู้หนึ่งผู้ใดที่กระทำความละเมิด หรือพยายามอุดหนุนให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำความละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานกระทำการในน่าที่ได้ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ให้มีโทษเสียค่าปรับเปนเงินไม่เกินกว่า ๑๕๐ บาท ทุก ๆ ครั้ง หรือจำขังช้การหนักไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำด้วยก็ได้

  มาตรา ๑๕ ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาล มีอำนาจตั้งข้อบังคับอธิบายขยายความตามพระราชบัญญัตินี้ แลเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต แลโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกาาให้ทราบทั่วกันแล้ว ข้อบังคับนั้นให้ใช้ได้เหมือนดังเปนส่วนของพระราชบัญญัตินี้ ตามเวลาที่จะได้กำหนดไว้นั้น

  ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาลกับเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเปนเจ้าน่าที่ป้องกันจัดการทั้งปวง ให้เปนไปตามพระราชบัญญัตินี้ทุประการ

  ประกาศมา ณ วันที่ ๑ เดือนกรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เปนวันที่ ๑๑๕๕๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้