1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที 9  กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>หออนุสรณ์>พระราชบัญญัติลักษณฆ่าโคกระบือแลสุกรตามหัวเมือง


พระราชบัญญัติลักษณฆ่าโคกระบือแลสุกรตามหัวเมือง


(จากหนังสือรวมประกาศราชบัญญัติ แล พระราชกำหนดต่าง ๆ รัชการที่ ๕ ปี ร,ศ, ๑๑๙ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ กรุงเทพฯ น.๒๖๐-๒๘๗)


   มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทว่าทุกวันนี้มีคนทั้งหลายตามหัวเมือง ฆ่าโคกระบือ บริโภคเปนอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเปนช่องทางให้โจรผู้ร้าย ที่ลักโคกระบือพาไปฆ่าขายให้ความสูญโดยสิ้นทางที่เจ้าพนักงานจะตรวจตราติดตาม แลบางทีผู้ที่ฆ่าโคกระบือฆ่าสัตว์ที่มีโรค ไม่สมควรจะเปนอาหารเอาเนื้อขายแก่มหาชนไปบริโภค เพราะยังหาได้มีการที่จะตรวจตราอย่างใดไม่อีกประการหนึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า การฆ่าสุกรขายในเวลานี้เจ้าภาษีรับผูกขาดไปตั้งโรงฆ่าสุกรขายโดยราคาแพง เปนที่เสียประโยชน์ของมหาชนซึ่งบริโภคเนื้อสุกรเปนอาหารอยู่ ทั้งยังหาได้มีการตรวจตราอย่างใดไม่ ที่ในกรุงเทพฯ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการตรวจตราแล้วสมควรจะต้องจัดการตรวจตราการฆ่าโค กระบือ แลสุกรต่อออกไปตามหัวเมือง เพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายแลให้มหาชนซึ่งจะบริโภคเนื้อโคกระบือแลสุกรเปนอาหาร ได้บริโภคสิ่งซึ่งสมควรจเปนอาหาร แลซื้อหาได้โดยราคาแต่ภอสมควร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามแลกำหนดใช้พระราชบัญญัติ

  มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณฆ่าโคกระบือแลสุกรตามหัวเมือง ร,ศ,๑๑๙"

  มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ สำหรับใช้ตามหัวเมืองนอกจังหวัดกรุงเทพฯ

  มาตรา ๓ เมื่อเสนาบดี ไ้ดรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ในหัวเมืองมณฑลใดแต่เมื่อใด จึงให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองมณฑลนั้นแต่เมื่อนั้นสืบไป

  มาตรา ๔ ตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ที่ใด ให้ยกเลิกข้อความในพระราชบัญญัติภาษีภายใน ร,ศ,๑๑๑ ซึ่งว่าด้วยภาษีสุกรแลลักษณฆ่าสุกร อันมีอยู่ในมาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ แลมาตรา ๔๐ นั้นเสียให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทนในที่นั้น ๆ สืบไป

หมวดที่ ๒ ว่าด้วยอธิบายคำ

  มาตรา ๕ คำบางคำซึ่งใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้พึงเข้าใจความอธิบายดังนี้คือ คำว่า "เสนาบดี" ให้พึงเข้าใจว่าเสนาบดีซึ่งบัญชาการกรมสรรพากร คำว่า "ทราก" ให้พึงเข้าใว่าสิ่งทั้งปวงซึ่งรวมอยู่ในตัวสัตว์คือ เนื้อ, หนัง, กระดูก, เปนฅ้น

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยโรงฆ่าสัตว์แลพนักงานสำหรับโรงฆ่าสัตว์

  มาตรา ๖ ให้ข้าหลวงเทศาภิบาล มีอำนาจที่จะจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์ขึ้นตามท้องที่ในมณฑลที่ได้บังคับบัญชา ตามซึ่งเป็นสมควรจะตั้งขึ้นณที่แห่งใด ๆ บ้าง แลโรงฆ่าสัตว์ซึ่งตั้งขึ้นนั้นแห่งใดจะให้เปนที่สำหรับฆ่าแต่สุกร หรือแห่งใดให้เปนที่สำหรับฆ่าทั้งโคกระบือแลสุกรด้วย ทั้งนี้ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลกำหนดตามเห็นสมควรแก่การ อนึ่ง บรรดาโรงฆ่้าสัตว์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เปนของหลวงอยู่ในบังคับปกครองของเจ้าพนักงาน

  มาตรา ๗ ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลจัดตั้งเจ้าพนักงาน ที่จะเปนผู้อนุญาตให้ฆ่าสัตว์ผู้ตรวจโรคสัตว์ แลผู้จัดการโรงฆ่าสัตว์ให้มีสำหรับการโรงฆ่าสัตว์่ีที่ได้จัดตั้งขึ้นนั้นทุก ๆ แห่ง เจ้าพนักงานสำหรับน่าที่เหล่านี้ จะควรมีแห่งละกี่คนแล้วแต่สมควรแก่การในที่นั้น

  มาตรา ๘ พนักงานสำหรับอนุญาตฆ่าโคกระบือนั้น ถ้าไม่จำเปนจะต้องจัดอย่างอื่นควรตั้งให้นายทะเบียฬ ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร,ศ, ๑๑๙ หรือกรมการอำเภอเปนพนักงานอนุญาต

  มาตรา ๙ ในท้องที่ใดมีเจ้าพนักงานสำหรับตรวจโรคสัตว์ รับราชการอยู่ควรตั้งให้เจ้าพนักงานนั้น เปนผู้ตรวจสัตว์ที่จะฆ่าตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าหากว่าไม่มีเจ้าพนักงานเช่นนั้นอยู่ประจำท้องที่ควรตั้งให้พนักงานอนุญาตเปนผู้ตรวจด้วย

  มาตรา ๑๐ พนักงานอนุญาต เปนผู้รับผิดชอบที่จะทำแลรักษาทะเบียฬบาญชี ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถูกต้องแลเปนผู้รับผิดชอบที่จะเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งหลวงด้วย

  มาตรา ๑๑ พนักงานจัดการโรงฆ่าสัตว์เปนผู้รับผิดชอบ ที่จะรักษาโรงฆ่าสัตว์ให้สอาด อย่าให้เกิดปฏิกูลซึ่งจะเปนความรำคาญหรือเกิดโรคไภยไข้เจ็บแก่มหาชน แลในการที่จะรักษาความสอาดนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จัดการโรงฆ่าสัตว์ มีอำนาจซึ่งจะบังคับผู้พาสัตว์มาฆ่าให้ขนทรากสัตว์นั้นไปเสียให้พ้น ภายในกำหนดซึ่งเ้าพนักงานเห็นสมควร แลมีอำนาจที่จะบังคับให้นำส่วนทรากสัตว์ซึ่งเจ้าของจะทอดทิ้งไปทอดทิ้งหรือกลบฝังทำลายเสีย ในที่แห่งหนึ่งแห่งใดซึ่งจะไม่เกิดปฏิกูล

หมวดที่ ๔
ว่าด้วยฆ่าโคกระบือ

  มาตรา ๑๒ ผู้ใดจะฆ่าโคกระบือ ให้มาทำจดหมายขออนุญาตตามแบบหลวงยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้อนุญาต ฆ่าโคกระบือแลจดหมายขออนุญาตนี้ ให้ทำเรียงตัวสัตว์ที่จะฆ่าตัวละฉบับ

  มาตรา ๑๓ เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใด ขออนุญาตฆ่าโคกระบือเพื่อขายเปนอาหาร ให้เจ้าพนักงานผู้อนุญาตจัดการดังนี้

  ข้อ ๑ ให้บังคับผู้ขออนุาต ให้พาสัตว์ที่จะฆ่าทั้งตัวรูปพรรณสำหรับสัตว์ตัวนั้นมาให้สอบสวนดูให้เห็นความสุจริตว่า ผู้ขออนุญาตมีอำนาจที่จะฆ่าสัตว์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย แลในการที่สอบสวนนี้ถ้าเจ้าพนักงานผู้อนุญาตเห็นสมควร จะบังคับให้ผู้ขออนุญาตนำพยานมาพิสูตรด้วยก็ได้

  ข้อ ๒ เมื่อสอบสวนเห็นความสุจริต ดังว่ามาในข้อก่อนแล้วให้เจ้าพนักงานตรวจโรคสัตว์ที่จะฆ่าให้เห็นเปนที่พอใจว่า สัตว์นั้นปราศจากโรคอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งไม่ควรจะเปนอาหารถ้าเจ้าพนักงานตวจเห็นว่า สัตว์นั้นมีโรคไม่สมควรจะเปนอาหารได้เจ้าพนักงานจะไม่ออกใบอนุญาตให้ หรือจะสั่งให้ทอดสัตว์นั้นไว้ในบริเวณโรงฆ่าสัตว์ก่อนพอให้หายโรค จึงออกใบอนุญาตให้ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่เจ้าพนักงานผู้อนุญาตจะเห็นสมควร ถ้าเจ้าพนักงานได้สั่งให้ทอดสัตว์นั้นไว้ในบริเวณโรงฆ่าสัตว์ ถ้าแลพักสัตว์นั้นไว้ไม่เกิน ๘ วัน ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมเลี้ยงรักษา

  ข้อ ๓ เมื่อได้สอบสวนตรวจตรา คามความที่ว่ามาในข้อ ๓ ข้อ ๒ เห็นเปนการถูกต้องแล้วให้เรียกค่าธรรมเนียมตามอัตรา ในพระราชบัญญัติจากผู้ขออนุญาติแล้ว จึงทำใบอนุญาตตามแบบหลวงให้รายตัวสัตว์ที่จะฆ่าตัวละใบ แลให้ยึดตัวรูปพรรณสำหรับสัตว์ที่ฆ่านั้นไว้สักหลังว่าได้อนุญาตให้ผู้นั้นฆ่าเมื่อวันนั้น แล้วส่งตัวรูปพรรณนั้นไปยังนายทะเบียฬสัตว์พาหนะในอำเภอนั้น

  ข้อ ๔ ต้องให้ฆ่าสัตว์ ที่ได้รับอนุญาตแล้วนั้นในโรงของหลวงสำหรับฆ่าโค กระบือ ที่ตำบลนั้นต่อหน้าเจ้าพนักงานผู้จัดการโรงฆ่าสัตว์

  มาตรา ๑๔ ถ้าผู้ใดจะฆ่าโค กระบือ เพื่อกิจอย่างอื่น คือ เพื่อพลีกรรมเปนต้นโดยไม่ขายเปนอาหาร ก็ให้ขออนุญาตตามความที่ว่ามาในมาตรา ๑๒ แลต้องให้เจ้าพนักงานผู้อนุญาตสอบสวน ออกใบอนุญาตตามความที่ว่ามาในข้อ ๑ แลข้อ ๓ แห่ง มาตรา ๑๓ ทุกประการแต่ไม่ต้องตรวจโรคสัตว์ ตามความในข้อ ๒ แลไม่จำเปนต้องให้ฆ่าในโรงหลวง จะอนุญาตให้ไปฆ่าณที่แห่งใดก็ได้แต่ต้องฆ่าต่อหน้ากำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ใดผู้หนึ่งในตำบลนั้นซึ่งผู้อนุญาตจะได้กำหนดไปให้เปนพยาน

หมวดที่ ๕
ว่าด้วยฆ่าสุกร

  มาตรา ๑๕ ผู้ใดจะฆ่าสุกร ให้ขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานผู้อนุญาตแลต้องพาสุกรตัวที่จะฆ่านั้น มาให้เจ้าพนักงานนั้นตรวจด้วย

  มาตรา ๑๖ ในการที่เจ้าพนักงาน ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ฆ่าสุกรนั้นให้ทำดังนี้คือ

  ข้อ ๑ ให้บังคับผู้ขออนุญาต ให้นำพยานมาพิสูตรจนเปนที่เชื่อได้ว่าสุกรนั้นผู้ขออนุญาตมีอำนาจที่จะฆ่าได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

  ข้อ ๒ เมื่อได้ไต่สวนเปนที่พอใจแล้ว ให้เจ้าพนักงานตรวจโรคสัตว์ ตรวจให้เห็นว่าสุกรที่จะฆ่า ไม่มีโรคไภยอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งไม่สมควรจะเปนอาหาร

  ข้อ ๓ เมื่อได้สอบสวนตรวจตรา ดังว่ามาเห็นเปนการถูกต้องแล้วให้เรียกค่าธรรมเนียมจากผู้ขออนุญาต ครบตามอัตราในพระราชบัญญัติแล้ว จึงทำใบอนุญาตให้รายตัวสุกรที่จะฆ่า

  ข้อ ๔ ต้องบังคับผู้ขออนุญาต ให้จัดการฆ่าสุกรที่โรงหลวงสำหรับฆ่าสัตว์ต่อหน้าเจ้าพนักงานผู้จัดการโรงฆ่าสัตว์

หมวดที่ ๖
ว่าด้วยค่าธรรมเนียมอนุญาตฆ่าสัตว์

  มาตรา ๑๗ ให้เรียกค่าธรรมเนียมฆ่าสัตว์ จากผู้ขออนุญาตรายตัวสัตว์ดังนี้คือ

  กระบือตัวละ ๕ บาท

  โคตัวละ ๒ บาท

  ลูกโคที่ต่ำกว่า ๔๓ นิ้ว ๑ กระเบียดตัวละ ๑ บาท

  สุกรตัวละ ๓ บาท

  ลูกสุกรขนาดทำหมูหันตัวละ ๑ บาท

  หมวดที่ ๗
ว่าด้วยโทษที่ล่วงพระราชบัญญัติ

  มาตรา ๑๘ ผู้ใดฆ่าโคกระืบือหรือสุกร โดยไม่รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับเรียงตัวสัตว์ที่ฆ่าโคกระบือเปนจำนวนเงินตัวหนึ่ง ไม่เกิน ๘๐ บาท สุกรตัวหนึ่งเปนเงินไม่เกิน ๔๐ บาท หรือจำคุกครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้ง ๒ สถาน

  มาตรา ๑๙ ผู้ใดฆ่าโคกระบือหรือสุกร ณ ที่อื่น นอกจากที่โรงฆ่าสัตว์หรือที่ซึ่งเจ้าพนักงานผู้อนุญาตได้อนุญาตให้ฆ่า ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเปนเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้ง ๒ สถาน

  มาตรา ๒๐ ผู้ใดขายทรากโคกระบือหรือสุกร โดยรู้ว่าฆ่าโดยไม่ได้รับอนุญาตผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษ ปรับครั้งหนึ่งเปนเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือน ๑ หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้ง ๒ สถาน

  มาตรา ๒๑ ผู้ใดขายทรากโคกระบือหรือสุกร ซึ่งฆ่าโดยได้รับอนุญาต เพื่อเหตุอย่างอื่นมิใช่ให้ซื้อขายผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้ง ๑ เปนเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินเดือน๑ หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้ง ๒ สถานที่

  มาตรา ๒๒ ผู้ใดไม่ขนทรากสัตว์ไปจากโรงฆ่าสัตว์ หรือไม่เททิ้งทำลายทรากสัตว์ส่วนซึ่งจะทิ้งทำลายให้พ้นความปฏิกูล ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานก็ดี ไม่ฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตแล้วต่อหน้าพยานที่เจ้าพนักงานได้กำหนดไปก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้ง ๓ เปนเงินไม่เกิน ๑๐ บาท

หมวดที่ ๘
ว่าด้วยการที่จะตั้งกฎข้อบังคับ

  มาตรา ๒๓ ให้เสนาบดีผู้บัญชาการกรมสรรพากรมีอำนาจ ที่จะออกกฎข้อบังคับสำหรับที่จะจัดแลรักษา การให้เปนไปตามพระราชบัญญัตินี้ แลข้อบังคับที่ได้ออกนั้นเมื่อได้ประกาศลงในหนังสือราชกิจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่าเปนส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการรักษาพระราชบัญญัติ

  มาตรา ๒๔ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้บัญชาการกรมสรรพากรนอก แลเสนาบดีกระทรวงนครบาลผู้บัญชาการกรมสรรพากรใน เปนผู้รักษาพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่ซึ่งได้บังคับบัญชา

  ประกาศมา ณ วันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ เปนวันที่ ๑๑๗๙๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้