ที่นี่: Home>หออนุสรณ์>ป้องกันผู้ลักฆ่าโคกระบือ ป้องกันผู้ลักฆ่าโคกระบือ (จากหนังสือกฏหมายไทย เล่ม ๒ หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง) ผู้รวบรวมพิมพ์ โรงพิมพ์วิชากร กรุงเทพฯ ปีรัตนโกสินทร ศก ๑๑๓, น.๓๖๐-๓๖๑) ประกาศกรมพระนครบาล กอมมิตตีบังคับการกรมพระนครบาล ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ในการที่จะป้องกันมิให้มีผู้ลักฆ่าโคกระบือ สัตวซึ่งใช้เปนพาหนะในกรุงสยามนั้น ตั้งแต่ ณ วัน ๓ เดือน ๘ อุตราสาธแรม ๑ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช๑๒๕๐ ตรงกับวันที่ ๒๓ เดือนยุไล คฤศตศักราช๑๘๘๘ สืบไป บันดาสัตวที่เปนพาหนะคือโคกระบือเปนต้นนั้น ถ้าผู้ใดจะฆ่าโคกระบือออกจำหน่ายซื้อขายเนื้อเปนอาหารเมื่อใด ต้องให้มาแจ้งความแก่เจ้าพนักงานนายตรวจโปลิศ ที่สเตแช่นตำบลที่มีอยู่ใกล้กันกับที่ฆ่าสัตว์นั้นให้ทราบ แลเจ้าพนักงานนายตรวจโปลิศจะมีอำนาจที่จะไปตรวจดู หนังสือตั๋วพิมพ์รูปพรรณสำหรับตัวสัตวนั้น แลผู้ที่จะฆ่าโคกระบือต้องยอมให้เจ้าพนักงานนายโปลิศ ตรวจหนังสือตั๋วพิมพ์รูปพรรณ ถ้านายโปลิศตรวจสอบเหนว่ามีหนังสือรูปพรรณถูกต้องว่าเปนของสัตว์นั้นแล้ว ก็จะยอมให้เจ้าของสัตวนั้นทำตามใจตน ถ้าแลผู้หนึ่งผู้ใดจะฆ่าโคกระบือไม่มาแจ้งความแก่นายโปลิศที่สเตแช่นตำบลที่มีอยู่ใกล้กัน กับที่ฆ่านั้นให้ทราบเสียก่อน แลโคกระบือนั้นจะมีหนังสือตั๋วพิมพ์ไม่ถูกต้องตามรูปพรรณก็ดี ฤาไม่มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณก็ดี ถ้าโปลิศตรวจจับได้จะยคดเอาโคกระบือนั้นไว้ แลถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลอบลักฆ่าโคกระบือไม่มาแจ้งความแก่นายตรวจโปลิศที่สเตแช่นตำบลซึ่งมีอยู่ใกล้เคียงกับที่ฆ่าโคกระบือก่อนนายโปลิศตรวจจับได้ จะชำระโทษผู้นั้นโดยฐานฆ่าโคกระบือผิด มีปรับไหมเปนพิไนบหลวงตามกฏหมายลักษณโจรมาตรา ๑๒๖ แลถ้าค่าตัวสัตว์นั้นไม่ตกลงกันได้ ก็จะต้องเปนตามมาตรา ๘๐ ในลักษณโจรนั้นด้วย ประกาศมา ณ วัน ๒ เดือน ๘ อุตราสาธ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีชวด สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๕๐ ตรงกับวันที่ ๙ เดือนยุไลย คฤศตศักราช ๑๘๘๘ | |