1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที 9  กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>หออนุสรณ์>พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร,ศ,๑๑๙


พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร,ศ,๑๑๙


(จากหนังสือรวมประกาศราชบัญญัติ แล พระราชกำหนดต่าง ๆ รัชการที่ ๕ ปี ร,ศ, ๑๑๙ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ กรุงเทพฯ น.๒๒๐-๒๒๙)


(พระราชบัญญัตินี้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พุทธศักราช ๒๔๘๒)


  มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยทุกวันนี้การไปมาค้าขายแลทำไร่นาป่าไม้เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เปนเหตุให้ราคาช้าง, ม้า, โค, กระบือ, ซึ่งเปนสัตว์พาหนะแพงขึ้นเปนหลายเท่า โจรผู้ร้ายจึงพยายามลักสัตว์พาหนะไปเที่ยวขายต่างแขวงต่างเมือง มีอยู่เนือง ๆ พระราชบัญญัติสำหรับป้องกันโจรผู้ร้ายลักสัตว์พาหนะที่มีอยู่แล้วนั้น ยังหาพอแก่การที่จะปราบปรามโจรผู้ร้ายลักสัตว์พาหนะในเวลานี้ไม่ ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะขึ้นไว้ให้พอแก่การที่จะป้องกันโจรผู้ร้ายลักสัตว์พาหนะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามแลกำหนดใช้พระราชบัญญัติ

  มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ”

  มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ เมื่อเสนาบดีได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ประกาศลงไว้ในหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ใช้ในหัวเมืองมณฑลใดเมื่อใด ก็ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในหัวเมืองมณฑลนั้น ๆ ตั้งแต่วันที่ได้กำหนดเปนต้นสืบไป

หมวดที่ ๒
ว่าด้วยอธิบายคำ

  มาตรา ๓ คำบางคำ ซึ่งใช้ในพระราชบัญญัตินี้ให้เข้าใจความอธิบายดังนี้ คือ คำว่า เสนาบดีให้เข้าใจว่า เสนาบดีเจ้าน่าที่ คำว่าเจ้าพนักงาน ให้เข้าใจว่าข้าราชการประจำมณฑล และประจำเมืองก็ดี เจ้าพนักงานสรรพากรก็ดี กรมการอำเภอก็ดี กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ดี พลตระเวร พลตำรวจภูธรก็ดี คำว่าสัตว์พาหนะให้เข้าใจว่า ช้าง, ม้า, โค, กระบือ, ล่อ สัตว์ ๕ อย่างนี้

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยตำแหน่งนายทะเบียฬ

  ให้กรมการอำเภอซึ่งได้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่เปนนายทะเบียฬกระทำการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยตำแหน่งสำหรับอำเภอนั้น ๆ เว้นแต่

  ข้อ ๑ หัวเมืองมณฑลใด ๆ ที่ไม่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ ก็ให้เสนาบดีจัดตั้งเจ้าพนักงานเปนนายทะเบียฬขึ้นประจำท้องที่ในหัวเมืองมณฑลนั้น จะมีแห่งเดียวหรือหลายแห่งตามควรแก่ท้องที่

  ข้อ ๒ ถ้าข้าหลวงเทศาภิบาล เห็นว่าอำเภอใดไม่ควรจะต้องมีนายทะเบียฬ จะให้กรมการอำเภออื่นเปนตำแหน่งนายทะเบียฬกระทำการตามน่าที่ ในพระราชบัญญัตินี้ตลอดหลายอำเภอรวมกันก็ได้

หมวดที่ ๔
ว่าด้วยลักษณทำตั๋วรูปพรรณ

  มาตรา ๕ ตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้บรรดาเจ้าของสัตว์พาหนะ นำสัตว์พาหนะของตนมาหมายตำหนิแลจดทะเบียฬที่นายทะเบียฬในอำเภอนั้น ๆ ตามวันที่นายทะเบียฬจะกำหนดให้นำมาภายใน ๖ เดือน การจดทะเบียฬนี้ให้นายทะเบียฬกระทำตามหลักถานตามที่ว่าไว้ในมาตรา ๖ แลในการจดทะเบียฬชั้นแรกนี้ ถ้าเปนสัตว์พาหนะที่มีตั๋วรูปพรรณเดิม ถูกต้องตามกฏหมายอยู่แล้วให้นายทะเบียฬสลักหลังแลประทับตราตั๋วรูปพรรณ หมายเปนสำคัญว่าได้นำมาตรวจจดลงทะเบียฬแล้ว แลให้ตั๋วรูปพรรณนั้นเปนอันใช้ได้ต่อไป แลมิให้เรียกค่าธรรมเนียมจดทะเบียฬเว้นไว้แต่ต้องทำตั๋วรูปพรรณให้ใหม่ จึงให้เรียกค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้

  มาตรา ๖ สัตว์พาหนะซึ่งเปนลูกคอกก็ดีลูกติดก็ดี หรือเปนสัตว์เพลิดสัตว์ป่าก็ดีเมื่อเจ้าของจับขับขี่แล้ว ให้พามาให้นายทะเบียฬหมายตำหนิจดทะเบียฬ แลเจ้าของต้องรับตั๋วรูปพรรณแบบหลวงสำหรับตัวสัตว์พาหนะตัวละใบทุกตัว ในการที่พาสัตว์พาหนะมาจดลงทะเบียฬรับตั๋วรูปพรรณนี้ เจ้าของต้องมาเองหรือมีผู้แทนตัวมาพร้อมด้วยพยานผู้รู้เห็น แลผู้เปนพยานนี้สมควรจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านเปนพยาน เว้นไว้แต่ความจำเปนซึ่งผู้ใหญ่บ้านจะเปนพยานไม่ได้จึงให้เอาผู้อื่น

  มาตรา ๗ สัตว์พาหนะซึ่งมีผู้พาเข้ามาแต่เมืองต่างประเทศชั่วครั้ง ๑ คราว ๑ เช่นสัตว์พาหนะ ที่บรรทุกต่างสินค้าเข้ามาขายเปนครั้งเปนคราวเปนต้นก็ดี สัตว์พาหนะที่พาผ่านพระราชอาณาจักรก็ดีไม่ต้ิงจดลงทะเบียฬหรือทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ถ้าสัตว์พาหนะที่ว่ามาในมาตรานี้ จะคงอยู่ในพระราชอาณาจักร์โดยการที่ซื้อขายให้ปันก็ดี หรือโดยที่ผู้เปนเจ้าของจะเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้สรอยในพระราชอาณาจักร์ก็ดี ต้องนำมาลงทะเบียฬแลรับตั๋วรูปพรรณเหมือนอย่างสัตว์ลูกคอกตามที่ได้ว่าไว้ในมาตรา ๖

  มาตรา ๘ ถ้าจะเปลี่ยนเจ้าของสัตว์พาหนะ ด้วยเหตุประการใด ๆ ให้เจ้าของเดิมแลเจ้าของใหม่ทั้ง ๒ ฝ่าย หรือผู้แทนตัวพร้อมด้วยพยานดังว่ามาแล้วในมาตรา ๖ พาสัตว์พาหนะแลตั๋วรูปพรรณสำหรับสัตว์สัตว์พาหนะตัวนั้น มายังนายทะเบียฬในท้องที่อันนั้นให้นายทะเบียฬโอนทะเบียฬแลสลักหลังตั๋วรูปพรรณเปนสำคัญ ในการที่จะเปลี่ยนเจ้าของ ถ้ามิได้ทำความในมาตรานี้ในการที่เปลี่ยนเจ้าของกันนั้น ห้ามมิให้ศาลรับว่าการเปลี่ยนเจ้าของกันนั้นถูกต้องด้วยกฏหมาย

  มาตรา ๙ ผู้ใดรับมรฏกสัตว์พาหนะ ให้ตัวเองหรือแต่งผู้แทนตัวพร้อมด้วยพยานดังว่าในมาตรา ๖ พาสัตว์พาหนะแลตั๋วรูปพรรณสำหรับสัตว์พาหนะตัวนั้นมายังนายทะเบียฬ ให้โอนทะเบียฬแลสลักหลังตั๋วรูปพรรณเปนสำคัญ

  มาตรา ๑๐ ก่อนที่นายทะเบียฬจะทำตั๋วรูปพรรณให้ใหม่ หรือจะสลักหลังตั๋วรูปพรรณเปลี่ยนเจ้าของสัตว์พาหนะ ให้ถามเจ้าของเก่าใหม่ทั้งพยาน แลให้ตรวจตำหนิรูปพรรณสัตว์พาหนะทั้งหนังสือรูปพรรณเดิมในการที่จะเปลี่ยนเจ้าของ ให้เห็นความบริสุทธิของการนั้นแล้ว จึ่งทำแลโอนให้ ถ้าตั๋วรูปพรรณที่เจ้าของนำมายื่นในการที่จะเปลี่ยนเจ้าของ เปนตั๋วรูปพรรณอย่างเก่าที่ทำก่อนออกพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียฬมีอำนาจที่จะยึดตั๋วรูปพรรณเก่าไว้แลทำตั๋วใหม่ให้ไปแทน แต่ตั๋วเก่าที่ยึดไว้นั้นต้องสลักหลังหมายเสียว่าใช้ไม่ได้ต่อไป

  มาตรา ๑๑ ผู้ใดนำสัตว์พาหนะมาแต่ต่างแขวงต่างอำเภอ เมื่อมาถึงที่อยู่หรือที่ซึ่งจะเลี้ยงสัตว์นั้นไว้ ให้พาสัตว์แลตั๋วรูปพรรณไปให้นายทะเบียฬในท้องที่อันนั้น ตรวจแลจดลงทะเบียฬแต่ภายใน ๗ วัน

  มาตรา ๑๒ ให้นายทะเบียฬมีทะเบียฬบาญชีสัตว์พาหนะบรรดามีอยู่ในท้องที่ของตน แลให้มีสำเนาตั๋วรูปพรรณที่ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดทุกฉบับ นายทะเบียฬต้องรับผิดชอบที่จะทำทะเบียฬบาญชีแลสำเนาทั้งนี้ให้ถูกต้อง

  มาตรา ๑๓ ถ้าตั๋วรูปพรรณของผู้ใดเปนอันตราย จะฃอรับตั๋วแทนรูปพรรณมาจากนายทะเบียฬก็ได้ แต่ในการจะฃอตั๋วแทนรูปพรรณนี้ ผู้ขอต้องมาฃอภายใน ๑๕ วัน ผู้ฃอต้องสาบาลตนตามกฏหมาย แลให้นำพยานมาให้นายทะเบียฬไต่สวน จนเห็นความบริสุทธิก่อน นายทะเบียฬจึงทำให้ได้ ตั๋วแทนรูปพรรณนี้ใช้ได้เหมือนกับต๋วรูปพรรณทุกประการ เว้นไว้แต่ถ้าปรากฏว่าตั๋วรูปพรรณเดิมมีอยู่เมื่อใดตั๋วรูปพรรณนั้นเปนใช้ไม่ได้

  มาตรา ๑๔ ถ้าตั๋วรูปพรรณหาย และเจ้าของได้รับตั๋วแทนรูปพรรณไปแล้ว ผู้หนึ่งผู้ใดได้ตั๋วรูปพรรณที่หายนั้นต้องนำมาส่งต่อนายทะเบียฬ

  มาตรา ๑๕ ในการทำตั๋วรูปพรรณใหม่ก็ดี สักหลังตั๋วรูปพรรณก็ดี ทำตั๋วแทนรูปพรรณก็ดี หมายตำหนิสัตว์พาหนะก็ดี ให้เรียกค่าธรรมเนียมตามอัตราซึ่งมีอยู่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

  มาตรา ๑๖ ถ้าสัตว์พาหนะของผู้ใด ต้องเหตุที่กระทำให้ตำหนิคลาดเคลื่อนจากตั๋วรูปพรรณ ให้เจ้าของรีบพามาแจ้งต่อนายทะเบียฬให้จดหมายเหตุแก้ไขตำหนิลงไว้ในตั๋วรูปพรรณ แลบาญชีแต่ภายใน ๑๕ วัน ตั้งแต่เจ้าของได้ทราบเหตุนั้น

  มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใด แก้ไขเปลี่ยนแปลงตำหนิสัตว์พาหนะแลที่ได้จดไว้ในตั๋วรูปพรรณให้คลาดเคลื่อนไป

  มาตรา ๑๘ ถ้าสัตว์พาหนะตาย หรือจำหน่ายออกไปนอกพระราชอาณาจักร เจ้าของต้องมอบตั๋วรูปพรรณแก่กำนันให้นำมาส่งไว้ที่นายทะเบียฬ ภายใน ๑๕ วัน หรือต้องส่งต่อเจ้าพนักงานในเวลาเมื่อเจ้าพนักงานได้เรียกให้ส่งก่อนกำหนดนั้น ตั๋วรูปพรรณเหล่านี้ให้นายทะเบียฬสักหลังเสียว่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป

  หมวดที่ ๕
ว่าด้วยการตรวจสัตว์พาหนะ

  มาตรา ๑๙ เมื่อมีเหตุอันควรสงไสยว่าผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำล่วงต่อพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานผู้มีน่าที่มีอำนาจที่จะตรวจสัตว์พาหนะซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดใช้สรอย หรือเลี้ยงรักษาไว้ ณะที่ใด ๆ แลมีอำนาจที่จะเรียกให้เจ้าของนำตั๋วรูปพรรณ มาตรวจสอบกับสัตว์พาหนะได้ในเวลาใด ๆ ที่เจ้าพนักงานเห็นสมควร

  มาตรา ๒๐ ถ้าเจ้าพนักงานพบสัตว์พาหนะ ที่ไม่มีเจ้าของเลี้ยงรักษาก็ดี หรือไม่มีตั๋วรูปพรรณก็ดี หรือพบสัตว์พาหนะที่ตั๋วรูปพรรณไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติก็ดี ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะคุมสัตว์แลผู้ซึ่งเปนเจ้าของสัตว์ หรือที่เลี้ยงรักษาสัตว์ในเวลานั้นจะต้องนำพยานมาพิสูตรให้เห็นจริงว่าเปนสัตว์ของตน หรือตนได้มาโดยสุจริตแลนำให้รู้ตัวเจ้าของได้โดยแท้ ถ้าผู้ใดมีสัตว์พาหนะแต่ไม่สาามารถจะชี้แจงให้เห็นจริงว่าได้มาโดยสุจริต ผู้นั้นต้องระวางโทษถานรับของโจรผู้ร้าย แลศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าพนักงานยึดสัตว์พาหนะเหล่านั้นไว้โดยโฆษณาหาเจ้าของที่แท้จริงต่อไป

  มาตรา ๒๑ บรรดาสัตว์พาหนะ ที่ศาลได้สั่งให้เจ้าพนักงานยึดไว้โฆษณาหาเจ้าของนั้น ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลจัดรวบรวมเลี้ยงรักษาไว้ในที่อันสมควร แลประกาศโฆษณาการให้คนทั้งหลายทราบจำนวนแลลักษณะสัตว์พาหนะที่โฆษณาหาเจ้าของ เมื่อผู้ใดนำพยานแลหลักถานมาให้ศาลพิสูตรเห็นจริงได้ว่า เปนสัตว์พาหนะของผู้ใดก็ให้ศาลสั่งให้คืนแก่เจ้าของไป เมื่อเจ้าของได้ใช้ค่าเลี้ยงให้ตามสมควรแล้ว

  อนึ่งในระหว่างที่เจ้าพนักงาน ได้เลี้ยงรักษาสัตว์ไว้แม้สัตว์นั้นมีเหตุต้องอันตรายหนีหายหรือโรคภัยเกิดขึ้น เปนเหตุให้สัตว์ล้มตายลงโดยเจ้าพนักงานมิได้แกล้งดังนี้ เจ้าพนักงานไม่ต้องใช้ค่าสัตว์นั้น

  มาตรา ๒๒ สัตว์พาหนะที่เจ้าพนักงานรักษาไว้ โฆษนาหาเจ้าของ ถ้าไม่มีเจ้าของมาติดตามเกินกว่า ๙๐ วันล่วงไป จึงให้ข้าหลวงเทศาภิบาล มีอำนาจที่จะสั่งให้ขายทอดตลาดสัตว์พาหนะเหล่านั้น แลให้นายทะเบียฬทำตั๋วรูปพรรณให้ผู้รับซื้อไป แม้จะปรากฏขึ้นภายหลังว่า สัตว์ที่ได้ขายทอดตลาดไปนั้นเปนของผู้หนึ่งผู้ใด เจ้าของเดิมคงได้แต่เงินราคาสัตว์ที่ขายทอดตลาด เมื่อได้หักค่าเลี้ยงรักษาแลค่าใช้สรอยในการขายทอดตลาดเสร็จแล้ว คงเหลืออยู่เท่าใดให้ให้แก่เจ้าของเท่านั้น จะเอาสัตว์คืนมิได้

หมวดที่ ๖
ว่าด้วยโทษที่ล่วงพระราชบัญญัติ

  มาตรา ๒๓ ผู้ใดแก้ไขตำหนิที่ตัวสัตว์พาหนะ ดังว่าไว้ในมาตรา ๑๗ มีความผิดต้องระวางโทษครั้ง ๑ เปนเงินไม่เกิน ๖๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้ง ๒ สถาน ถ้าแก้ตั๋วรูปพรรณมีความผิดถานทำหนังสือปลอม

  มาตรา ๒๔ ผู้ใดไม่นำสัตว์พาหนะ มาให้หมายตำหนิแลจดลงทะเบียฬ ตามความที่ได้ว่าไว้ในมาตรา ๕ ก็ดี ผู้ใดไม่นำสัตว์พาหนะมาให้หมายตำหนิลงจดทะเบียฬแลรับตั๋วรูปพรรณ ตามความที่ได้ว่าไว้ในมาตรา ๖ ก็ดี ผู้ใดพาสัตว์มาแต่ต่างอำเภอไม่มาบอกนายทะเบียฬ ตามความที่ว่าไว้ในมาตรา ๑๑ ก็ดี หรือผู้ใดเก็บตั๋วรูปพรรณที่หายได้ แลไม่นำมาส่งนายทะเบียฬตามความที่ว่าไว้ในมาตรา ๑๔ ก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเปนเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้ง ๒ สถาน

  มาตรา ๒๕ ในการเปลี่ยนเจ้าของสัตว์ด้วยประดารใด ๆ นอกจากรับมรฎก ถ้าไม่มาบอกนายทะเบียฬตามความที่ว่าไว้ในมาตรา ๘ เจ้าของเดิมเจ้าของใหม่ ทั้ง ๒ ฝ่ายมีความผิด ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๐ บาท หรือจำคุก ๑ เดือน หรือทั้งจำแลปรับด้วยทั้งสองสถาน

  มาตรา ๒๖ ผู้ใดได้รับสัตว์พาหนะเปนมรฎก แลไม่มาบอกนายทะเบียฬตามความที่ว่าไว้ในมาตรา ๙ ก็ดี สัตว์พาหนะของผู้ใดตายหรือจำหน่ายออกไปนอกพระราชอาณาจักร แลผู้นั้นไม่นำตั๋วรูปพรรณมาส่งนายทะเบียฬ ตามความที่ว่าไว้ในมาตรา ๑๘ ก็ดี สัตว์ของผู้ใดมีเหตุตำหนิคลาดเคลื่อนจากตั๋วรูปพรรณ แลผู้นั้นไม่มาแจ้งต่อนายทะเบียฬ ตามความที่ได้ว่าไว้ในมาตรา ๑๖ ก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน ๑๐ บาท

  มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่กระทำการตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน อันบังคับการชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษานุโทษตามควรแก่ความผิด แจ้งอยู่ในหมวดที่ ๗ แห่งพระราชบัญญัติลักษณพยาน ร,ศ, ๑๑๓ นั้นแล้ว

  มาตรา ๒๘ การที่จะฟ้องร้องเอาโทษ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ฟ้องได้แต่เจ้าพนักงานรักษาพระอัยการ

  หมวดที่ ๗
ว่าด้วยอำนาจทำกฏแลน่าที่รักษาพระราชบัญญัติ

  มาตรา ๒๙ ให้เสนาบดีมีอำนาจที่จะตั้งกฏข้อบังคับ เพื่อจัดการให้เปนไปตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อกฏข้อบังคับนั้นได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่ากฏนั้นเหมือนเปนส่วน ๑ ในพระราชบัญญัตินี้

  มาตรา ๓๐ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แลเสนาบดีกระทรวงนครบาลเปนเจ้าน่าที่รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดท้องที่ที่ได้บังคับบัญชานั้น

  ประกาศมา ณ วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ เปนวันที่ ๑๑๖๘๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

อัตราค่าธรรมเนียม
ค่าตั๋วรูปพรรณ หรือแทนตั๋วรูปพรรณ ๑๖ อัฐ
ค่าวัดค่าตรวจแลค่าหมายตำหนิรวมกัน ช้าง ๒๐ บาท โคกระบือล่อ ๑๖ อัฐ
ค่าตราแลค่าเขียนรวมกัน ๑๖ อัฐ
ค่าป่วยการพยาน ๑๖ อัฐ