1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที 9  กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>หออนุสรณ์>พระราชบัญญัติโคกระบือ


พระราชบัญญัติโคกระบือ


(จากหนังสือกฏหมายไทย เล่ม ๒ หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง) ผู้รวบรวมพิมพ์ โรงพิมพ์วิชากร กรุงเทพฯ ปีรัตนโกสินทร ศก ๑๑๓, พระราชบัญญัตินี้ตราขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ด้วยเจ้าพระยายมราชชาติเสนางคนรินทร มหินทราธิบดีศรีวิไชยราชมไหยสวรรยบริรักษ์ ภูมิพิทักษโลกาธิกรณ์ ทัณฑฤทธิธรชาติศวรสิงหพาหเทพยมุรธาธรรมามหานครบาลสมุหบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เปนประธานาธิบดีในกรมพระนครบาล รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าความผู้ร้ายลักโคกระบือราษฎรนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบแต่ใบบอกผู้ว่าราชการเมือง  แลรายงานกำกับศาลชุกชุมกว่าแต่ก่อน  จึ่งทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยความคิดท่านอัคมหาเสนาธิบดี ว่า โคกระบือเปนกำลังราษฎรทำนาแลเขนเกวียน ซึ่งให้เกิดผลประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่เกิดโจรผู้ร้ายเที่ยวตีชิงลักโคกระบือของราษฎรอยู่ทุกแห่งทุกตำบล อ้ายผู้ร้ายเอาไปขายให้ผู้มีชื่อฆ่าเสียบ้าง เอาไปขายจำนำแลกเปลี่ยนแก่กันต่างแขวงต่างเมืองบ้าง ราษฎรเจ้าของติดตามไปพบปะจับแต่ผู้ซื้อ ๆ ส่งผู้ร้ายมิได้ ก็ต้องปรับผู้นั้นเปนผู้สมคบโจร เงินค่าโคกระบือเสียไปชั้นหนึ่งแล้วกลับต้องปรับไหมอีก ก็เปนความยากแก่ราษฎร ถ้าส่งผู้ร้ายได้ ผู้ร้ายก็ต่อสู้บิดพลิ้วเปนความค้างโรงศาลอยู่ก็มาก ตระลาการพิจารณากว่าจะเสร็จได้เรื่องหนึ่งก็อยู่ในปีหนึ่งสองปี

กาลสืบไปภายน่าควรให้มีกำหนดตำบลที่ซื้อขายโคกระบือในแขวงกรุงเทพมหานคร แลหัวเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ฝ่ายตวันออกตวันตก เมืองหนึ่งสามตำบลสี่ตำบล ตามเมืองใหญ่เมืองน้อยซึ่งเปนทางท่าราษฎรเดิน ให้มีกรมการกำนันกำกับอยู่ในที่นั้นเปนนิตย์ สำหรับทำบาญชีรูปพรรณผู้ซื้อขายแลรูปพรรณโคกระบือด้วย ถ้าจัดการเรียบร้อยเปนแบบอย่างลงแล้ว โจรผู้ร้ายซึ่งจะลักโคกระบือราษฎรก็จะเบาบางไป

จึงโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมให้พระยาอิืนทราธิบดีสีหราชรองเมืองเจ้ากรมกองกระเวรขวา พระเทพผลูเจ้ากรมกองกระเวรซ้ายพิเคราะห์ดูในแขวงอำเภอกรุงเทพฯ ฝั่งตวันออกตวันตก จะมีที่ตั้งให้ราษฎรซื้อขายโคกระบือสักกี่ตำบล ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง พระเทพผลู รับฎีกาพิมพ์ต่อเจ้าพนักงานโรงพิมพ์หลวงมา หมายประกาศราษฎรในแขวงอำเภอให้ทราบทั่วกันว่า

ที่ตั้งให้ราษฎรซื้อขายโคกระบือ มีอำเภอกำนันเสมียนกำกับ ทำรูปพรรณให้ซื้อขายกันอยู่ ณ ตำบลบ้านนั้น อำเภอเปนที่นั้น กำนันชื่อนั้นเสมียนชื่อนั้น ถ้าราษฎรนำโคกระบือมาซื้อขายจำนำแลกเปลี่ยนกัน ณ ที่นั้นมากน้อยเท่าใด ก็ให้อำเภอกำนันเสมียนเขียนรูปพรรณลงในฎีกาพิมพ์ ว่านายนั้นภรรยาชื่อนั้นตำหนิที่นั้นอยู่บ้านนั้นอำเภอกำนันนั้น แลรูปพรรณโคกระบือ ก็ให้ทำเรียงตัวเขียนลงตามช่องระยะหว่างนั้นทุกตัว ไม่ให้เรียกค่าธรรมเนียมสิ่งไร หนังสือเดินทางนั้นให้เขียนด้วยเส้นหมึกน้ำดำ บอกชื่อผู้ซื้อผู้ขายแลรูปพรรณโคกระบือลงในหนังสือเดินทางว่านายนั้นมาขายโคกระบือกับทั้งฎีกาพิมพ์ รูปพรรณเจ้าของแลโคกระบือให้แก่นายนั้น ภรรยาชื่อนั้น อยู่บ้านนั้น อำเภอกำนันนั้น แขวงเมืองเท่านั้น ฎีกาพิมพ์สำหรับโคกระบือเท่านั้น แล้วให้อำเภอกำนันเสมียนเซนชื่อประทับตราให้ผู้ซื้อไปเปนสำคัญ ให้ราษฎรได้ซื้อขายกันในวันเดียว อย่าให้ล่วงเวลาเสียประโยชนไปได้ แต่ค่าหนังสือเดินทางนั้นเรียกเอาแต่ผู้ซื้อโคกระบือ ถ้าซื้อขายไช้สรอยอยู่ในแขวงบ้านเมืองเดียวกัน โคกระบือจะมากน้อยเท่าใดให้อำเภอกำนันเสมียนเรียกค่าหนังสือเดินทางอย่าให้เกินฉบับละสลึง เมื่อซื้อขายออกไปต่างเมืองโคกระบือต่ำกว่าสิบตัวลงมา ให้เรียกฉบับละสองสลึง ถ้าเกินกว่าสิบตัวขึ้นไปให้เรียกฉบับละบาท ครบเดือนหนึ่งรวมเงินได้เท่าไร ให้อำเภอ กำนันเสมียนแบ่งสี่ส่วน เจ้ากรมกองกระเวรส่วนหนึ่ง อำเภอส่วนหนึ่ง กำนันส่วนหนึ่ง เสมียนส่วนหนึ่ง ตามฝั่งตวันออกตวันตกแจกให้เสร็จ ถ้าฎีกาพิมพ์ไม่ภอก็ให้นายอำเภอมารับต่อพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง และพระเทพผลูโดยเรว

เมื่อนายอำเภอกำนันหมายประกาศทั่วแล้ว ผู้ใดมิทำตามขืนลักลอบซื้อขายโคกระบือ นอกจากตำบลที่กำหนดประกาศนี้ แลผู้ใดภาโคกระบือเดินทางผ่านบ้านแขวงอำเภอมา  ไม่มีหนังสือเดินทางสำหรับตัว แลรูปพรรณโคกระบือ ฤาผู้ใดนำโคกระบือมาซื้อขายต่างแขวงต่างอำเภอ ในที่กำหนดประกาศไม่มีหนังสือเดินทาง แลไม่มีฎีกาพิมพ์รูปพรรณเจ้าของสำหรับโคกระบือ ก็ให้อำเภอกำนันเสมียนชำระโทษตามโทษานุโทษ แต่โคกระบือซึ่งมีเจ้าของมาติดตาม ก็ให้คืนให้เจ้าของ ถ้าไม่มีเจ้าของให้ริบเปนของแผ่นดิน ประการหนึ่งถ้าผู้ใดถูกโจรผู้ร้ายลักโคกระบือไปวันไร ให้เจ้าของมาทำคำตราสินรูปพรรณโคกระบือต่อกำนัน ให้กำนันมาแจ้งต่อพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองแลพระเทพผลูในวันนั้น ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองแลพระเทพผลูรีบมีหนังสือบอกรูปพรรณโคกระบือ ไปถึงแขวงอำเภอหัวเมืองต่อกันโดยเรว ถ้าอำเภอฤาผู้ว่าราชการเมืองกรมการต่อกันจับโคกระบือได้ ก็ให้ส่งโคกระบือมายังแขวงอำเภอเดิมคืนให้เจ้าของ ส่วนผู้ร้ายให้ชำระโทษอยู่ ณ แขวงอำเภอเมืองนั้นตามโทษานุโทษ

ถ้าพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองแลพระเทพผลู จัดที่ตำบลซื้อขายโคกระบือในแขวงฝั่งตวันออกตวันตกได้กี่ตำบล จัดอำเภอกำนันกำกับเปนตำแหน่งชื่อไร ให้พระยาอินาราธิบดีสีหราชรองเมือง แลพระเทพผลู หมายประกาศราษฎรในแขวงอำเภอให้ทราบทั่วกันเดือนหนึ่งก่อน ถ้าพ้นกำหนดเดือนหนึ่งแล้ว จึ่งให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองแลพระเทพผลู จัดอำเภอกำนันไปตั้งอยู่ตามกำหนดที่ประกาศทุกตำบล แล้วให้ยื่นหางว่าว กำหนดที่แลชื่ออำเภอกำนันให้แจ้ง อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง 

หมายมา ณ วันจันทร เดือนเจ็ด ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีชวดอัฐศก ศักราช ๑๒๓๘(๑)  ฯะ



(๑) ตรงกันกับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๙