1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>กฏหมาย>ระเบียบฯ ว่าด้วยการดำเนินการเฝ้าระวังโรคฯ พ.ศ. ๒๕๔๗


ระเบียบกรมปศุสัตว์
ว่าด้วยการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดสัตว์
พ.ศ. ๒๕๔๗


หมวด ๑ ภาวะปกติ  | 

หมวด ๒ ภาวะเกิดโรคระบาด | 


โดยที่เห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรวางแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคระบาดสัตว์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงวางระเบียบไว้ ดังนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๕๔๗”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้

“สัตวแพทย์ประจำท้องที่” หมายความว่า สัตวแพทย์สังกัดสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สัตวแพทย์สังกัดสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

“สัตวแพทย์” หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์

“ภาวะปกติ” หมายความว่า ภาวะที่ปราศจากโรคระบาด โดยไม่มีรายงานโรคระบาด หรือไม่พบการเกิดโรคระบาด

“ภาวะเกิดโรคระบาด” หมายความว่า ภาวะที่มีการเกิดโรคระบาดขึ้น

“โรคระบาด” หมายความว่า โรคระบาดสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ และโรคอื่นๆ ที่กรมปศุสัตว์ป้องกันและควบคุมโรค

“ระบาดวิทยา” หมายความว่า วิธีการค้นหาลักษณะการเกิด การแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ ตลอดจนสาเหตุและปัจจัยหรือตัวกำหนดที่ทำให้เกิดและแพร่กระจายของโรคนั้น เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันควบคุม และกำจัดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

“เขตโรคระบาด” หมายความว่า เขตท้องที่ที่มีโรคระบาด หรือสงสัยว่ามีโรคระบาดและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาด หรือสงสัยว่ามีโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.๒๔๙๙

“เขตโรคระบาดชั่วคราว” หมายความว่า เขตท้องที่ที่มีโรคระบาดและสัตวแพทย์ได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙

“การเฝ้าระวังโรค” หมายความว่า การติดตามสังเกตการเปลี่ยนแปลงอย่างมีระบบ สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในด้านต่างๆ ทั้งหมดของการเกิด และการแพร่กระจายของโรคเพื่อให้รู้ปัญหาสุขภาพสัตว์ ทั้งในภาวะปกติและภาวะโรคระบาด

“โรคสงบ” หมายความว่า สถานการณ์ที่มีโรคระบาดในเขตท้องที่ใดๆ ซึ่งต่อมาภายหลังปรากฏว่า ภายหลังจากสัตว์ป่วยตัวสุดท้ายได้หายป่วยแล้วไม่มีสัตว์ป่วยเพิ่มอีก ในช่วงเวลานานกว่าระยะฟักตัวของโรค

ข้อ ๕ ในผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

หมวด ๑  ภาวะปกติ
ส่วนที่ ๑
การเฝ้าระวังโรคระบาด

ข้อ ๖ ให้สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย และสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านปศุสัตว์ในท้องที่รับผิดชอบอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

ข้อ ๗ ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ดำเนินการเฝ้าระวังโรคและสร้างระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ โดยการตรวจเยี่ยมสุขภาพสัตว์ ฝึกอบรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนอาสาพัฒนาปศุสัตว์ประจำตำบลและเกษตรกร เรื่องโรคระบาดสัตว์และแนวทางการเฝ้าระวังโรค ออกตรวจเยี่ยมสุขภาพสัตว์ เก็บตัวอย่างจากสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคระบาดส่งห้องปฏิบัติการ และจดทำบันทึกผลการดำเนินงานในสมุดบันทึกการเฝ้าระวังโรคไว้ เพื่อสามารถตรวจสอบและติดตามภาวะโรคย้อนหลังได้ และส่งรายงานการเฝ้าระวังโรคให้ปศุสัตว์จังหวัดทราบทุกวันสิ้นเดือน

ข้อ ๘ ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดติดตามและรวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูล และให้รายงานสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยทราบในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปทุกเดือน พร้อมทั้งสำเนาให้สำนักปศุสัตว์อำเภอด้วย

ข้อ ๙ ให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยติดตามและรวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากปศุสัตว์จังหวัด วิเคราะห์ข้อมูลและรายงานกรมปศุสัตว์ผ่านสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ภายในวันที่ ๑๐ ของเดือนต่อไปทุกเดือน พร้อมทั้งสำเนาให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทราบด้วย

ข้อ ๑๐ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ติดตามและรวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย วิเคราะห์ข้อมูล และรายงานกรมปศุสัตว์ ภายในวันที่ ๑๕ ของทุกเดือน พร้อมทั้งสำเนาให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยทราบด้วย

ข้อ ๑๑ ให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภาคตรวจวินิจฉัยโรคบันทึกผลการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างมีระบบ รายงานสรุปผลการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฎิบัติการตามแบบรายงานผลการเฝ้าระวังโรค ทางห้องปฏิบัติการเสนอกรมปศุสัตว์ ผ่าน สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไปทุกเดือน และวิเคราะห์ผลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการประจำปีเสนอกรมปศุสัตว์ ผ่าน สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

ข้อ ๑๒ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ประสานงานสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคกับหน่วยงายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในกรณีที่พบโรคระบาดให้รายงานอย่างเป็นทางการโดยอนุโลมเช่นเดียวกับการรายงานในภาวะเกิดโรคระบาดตามหมวด ๒


ส่วนที่ ๒
การป้องกันโรค

ข้อ ๑๓ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ร่วมกับสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติประมวลการเฝ้าระวังโรคที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์จัดทำแผนป้องกันควบคุม และกำจัดให้มีประสิทธิภาพเสนอกรมปศุสัตว์ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป

ข้อ ๑๔ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ประสานงานกับสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์เพื่อวางแผนการผลิตวัคซีนและป้องกันโรคระบาดและแอนติเจนทดสอบโรค

ข้อ ๑๕ ให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยนำนโยบายและแผนป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคที่กรมปศุสัตว์กำหนดมาประชุมวางแผนร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่ความรับผิดชอบต่อไป

ข้อ ๑๖ ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนำแผนป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคที่กรมปศุสัตว์กำหนดประชุมและวางแผนร่วมกับสัตวแพทย์ประจำท้องที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติในพื้นที่ความรับผิดชอบต่อไป

ข้อ ๑๗ ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่จัดทำแผนฝึกอบรม ให้ความรู้และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดเจ้าหน้าที่อาสาพัฒนาประจำหมู่บ้านและเกษตรกร เกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาด

ข้อ ๑๘ ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่จัดทำแผนการฉีดวัคซีน ดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมคุ้มกันโรคให้สัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามและบันทึกผลการฉีดวัคซีนตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนดเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเคลื่อนย้ายสัตว์ และรายงานผลการฉีดวัคซีนให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทราบ และให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดรวบรวมส่งสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด

ข้อ ๑๙ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยมีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลงานวิชาการ ติดตามการปฏิบัติงานป้องกันโรค สรุป วิเคราะห์ และรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์

ข้อ ๒๐ สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์มีหน้าที่สนับสนุน ข้อมูลงานวิชาการติดตามการปฏิบัติงานเสริมสร้างภูมคุ้มกันโรคแต่ละสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย และสรุป วิเคราะห์ผลการปฏิบัติงานให้กรมปศุสัตว์ตามกำหนด


ส่วนที่ ๓
การทดสอบโรค

ข้อ ๒๑ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติประมวลผลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ หรือผลการชันสูตรโรคเพื่อวิเคราะห์จัดทำแผนการทดสอบโรคในปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร และสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อกำหนดให้เป็นนโยบายของกรมปศุสัตว์ให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย สำนักปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์หรือสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ถือเป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติงานทอสอบโรคและควบคุมโรคต่อไป

ข้อ ๒๒ ให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยนำแนวทางการทดสอบโรคที่ได้รับมอบจากกรมปศุสัตว์มาประชุมวางแผนร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์หรือสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เพื่อทำเป็นแผนปฏิบัติงานทดสอบโรคในพื้นที่ความรับผิดชอบต่อไป

ข้อ ๒๓ ให้สัตวแพทย์ปรำจำท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานทดสอบโรคตามแผนที่ได้รับกำหนดไว้ในข้อ ๒๒

ข้อ ๒๔ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ประสานงานกับสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์เพื่อวางแผนการผลิตแอนติเจนเพื่อใช้ในการทดสอบโรค

ข้อ ๒๕ ให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภาคพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคให้ได้มาตรฐานตามองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ


ส่วนที่ ๔
การวางแผนการวิจัย

ข้อ ๒๖ ให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการทางสัตวแพทย์ วางแผนการวิจัย ให้สอดคล้องกับนโยบายกรมปศุสัตว์ โดยมุ่งพัฒนาด้วยเทคนิคในการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ที่สามารถนำมาตรวจสอบในพื้นที่ได้ ตลอดจนพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคระบาดได้รวดเร็วและถูกต้อง

ข้อ ๒๗ ให้สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ วางแผนการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันโรค และแอนติเจนที่มีประสิทธิภาพ

ข้อ ๒๘ ให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ โดยศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาวิธีการตรวจแยกชนิดไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (Typing)

ข้อ ๒๙ ให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ทำแผนศึกษาวิจัยหาแนวทางป้องกัน ควบคุมกำจัดโรคระบาดตามหลักวิชาการสัตวแพทย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนป้องกันและกำจัดโรคที่มีประสิทธิภาพ

ข้อ ๓๐ ให้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด จัดทำแผนศึกษาวิจัยโรคสัตว์ชนิดที่เป็นปัญหาภายในพื้นที่ ความรับผิดชอบ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกัน ควบคุม กำจัดโรคตามหลักวิชาการสัตวแพทย์ต่อไป


หมวด ๒ ภาวะเกิดโรคระบาด

ข้อ ๓๑ เมื่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ได้รับแจ้งว่าเกิดโรคระบาดและตรวจอาการสัตว์แล้วปรากฏว่าเป็นโรคระบาดหรือสงสัยว่าเป็นโรคระบาดให้รีบรายงานปศุสัตว์จังหวัดทราบทันที่ และเก็บตัวอย่างจากสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ป่วยส่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภาค กรณีเป็นโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยให้ส่งตัวอย่างเพื่อแยกชนิดเชื้อ ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด

ข้อ ๓๒ ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่รับดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายออกไปยังท้องที่อื่นตามป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ของแต่ละโรคตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด เช่น โดยประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวพร้อมทั้งดำเนินการกักสัตว์ป่วย หรือสัตว์ที่มีเหตุสงสัยว่าได้รับเชื้อโรค ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์เข้า-ออก และผ่านจุดเกิดโรค และดำเนินการตามาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ถ้าเป็นโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย โรคแบลคเลกให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่สัตว์ให้แก่สัตว์ในพื้นที่รอบจุดเกิดโรคอย่างน้อย รัศมี ๕ กิโลเมตร ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑ สัปดาห์ หากเกิดโรคระบาดระบาดแพร่กระจายอย่างกว้างไม่สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนและควบคุมโรคให้แล้วเสร็จได้ทัน ให้ปศุสัตว์จังหวัดแจ้งขอความช่วยเหลือไปยัง สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยทันที

ข้อ ๓๓ หากพบว่ามีสัตว์ป่วยในจุดเกิดโรคระบาด และสัตวแพทย์ประจำท้องที่พิจารณาแล้วว่าหากทำการทำลายสัตว์ป่วยและสัตว์ที่อยู่ร่วมฝูงนั้นแล้วจะสามารถควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายได้ ให้รีบดำเนินการทำลายสัตว์ป่วยตามกฎหมายกระทรวงและระเบียบกรมปศุสัตว์ กรณีพบว่ามีสัตว์ป่วยด้วยโรคแปลกถิ่น(Exotic Disease)หรือโรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease)ให้ดำเนินการทำลายสัตว์ที่เป็น โรคระบาดหรือสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดทันทีตามระเบียบกรมปศุสัตว์

ข้อ ๓๔ เมื่อสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้รับแจ้งการเกิดโรคระบาดจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ ให้รีบสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา รวมทั้งดำเนินการควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรคระบาดด้วย โดยให้พิจารณาเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อประกาศกำหนดเขตโรคระบาดหรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๘๘ พร้อมทั้งรายงาน ดังนี้ (๑) กลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแลถือเป็นกรณีฉุกเฉินหากเกิดการระบาดของโรค ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย โรคแบลคเลก โรคอหิวาต์สุกร โรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค โรคสัตว์แปลกถิ่น (Exctic Diseases) และโรคสัตว์อุบัติใหม่ (Emerging Disease) ให้รายงานภาวะโรคเบื้องต้น ตามแบบรายงานการเกิดโรคระบาดสัตว์เบื้องต้น (กคร.๑) ให้สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ และสำเนาให้ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย โดยทางโทรสาร ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่ได้รับแจ้งหรือตรวจพบโรคระบาด และให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่เกิดโรคระบาดจัดทำรายงานการสอบสวนโรคระบาดวิทยาของการเกิดโรคระบาดสัตว์ (กคร.๒) ภายใน ๗๒ ชั่วโมง นับแต่ทราบการเกิดโรคระบาด และให้ทำรายงานภาวการณ์ระบาดของโรค (กคร.๓) ส่งในสัปดาห์ต่อมาทุกสัปดาห์จนโรคสงบพร้อมนี้ให้ทำรายงานแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ (กคร.๕) ภายใน ๗๒ ชั่วโมง และผลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ (กคร.๕) ภายหลังการดำเนินการเสร็จสิ้นส่งให้กรมปศุสัตว์ผ่านสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ และสำเนาให้ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยทราบด้วย (๒) กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ โรคกาฬโรคเป็ด โรคพาร์โวไวรัสซัลโมเนลล่า หลอดลมอักเสบติดต่อ อหิวาต์สัตว์ปีก และโรคระบาดอื่นๆ ให้รายงานในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปทุกเดือน

ข้อ ๓๕ เมื่อ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยได้รับแจ้งการเกิดโรคระบาดจากปศุสัตว์จังหวัดให้ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์หรือเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ เข้าไปร่วมทำการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาทันที ในกรณีที่ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากปศุสัตว์จังหวัดให้จัดสรรวัคซีน เวชภัณฑ์ และอัตรากำลังออกไปดำเนินการควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรคภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่ได้รับแจ้ง หากพบว่ามีการระบาดอย่างกว้างและไม่สามารถควบคุมได้ทันทีต่อเหตุการณ์ให้ดำเนินการขอความช่วยเหลือไปยังสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์เป็นการเร่งด่วน

ข้อ ๓๖ ให้ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยแจ้งให้ปศุสัตว์ใกล้เคียงพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดทราบโดยเร่งด่วน เพื่อให้เตรียมป้องกันมิให้โรคแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ได้ทันท่วงที

ข้อ ๓๗ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์หรือศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยแจ้งผลการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

(๑) กลุ่มโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากและถือเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น โรคไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย โรคแบลคเลก โรคอหิวาต์สุกร โรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค รวมทั้งโรคแปลกถิ่น (Exotic Disease) และโรคอุบัติใหม่ (Emerging Disease) ให้สำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัด สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัย และสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ทราบทันทีเมื่อพบว่ามีสัตว์เป็นโรคดังกล่าวก่อนรายงานผลการชันสูตรอย่างเป็นทางการ

(๒) กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ โรคกาฬโรคเป็ด โรคพาร์โวไวรัส โรคต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์นากเหนือจากที่กล่าวมาให้รายงานในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปทุกเดือน

ข้อ ๓๘ เมื่อสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ได้รับแจ้งการเกิดโรคระบาดตาม ข้อ ๓๔ จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยให้รายงานอธิบดีกรมปศุสัตว์ทราบทันที และรายงานภาวะโรคระบาดให้ทราบทุกสัปดาห์ ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปร่วมทำการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและติดตามการควบคุมโรคในกรณีที่ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยได้ขอเจ้าหน้าที่ไปร่วมดำเนินการควบคุมโรค ณ จุดเกิดโรคระบาดให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ร่วมดำเนินการควบคุม ณ จุดเกิดโรคระบาดโดยด่วนภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่ได้รับแจ้ง


ประกาศ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗

ยุคล ลิ้มแหลมทอง

(นายยุคล ลิ้มแหลมทอง)

อธิบดีกรมปศุสัตว์