เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตการตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรคในการ เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักรเกิดความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว อันจะเป็นประโยชน์แก่ ผู้รับบริการและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังโรคและการ ป้องกันการแพร่เชื้อโรคระบาดสัตว์ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งกำหนด ไว้ในมาตรา 12 มาตรา 17 และมาตรา 34 และมาตร 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรคระบาด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33(4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงวางระเบียบให้ถือปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการอนุญาต การตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรคในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2546
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการนำหรือการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2544
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
สัตวแพทย์ประจำท้องที่ หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ซึ่งปฎิบัติงานในลักษณะประจำในท้องที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
สัตวแพทย์ หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์
เครื่องหมายที่ตัวสัตว์ หมายความว่า เครื่องหมายใด ๆ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสารวัตรตามกฎหมายว่าด้วย ด้วยโรคระบาดสัตว์ สัตวแพทย์หรือสัตวแพทย์ประจำท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ได้ทำไว้ที่ตัวสัตว์ อันมีลักษณะคงทนถาวร ไม่หลุดหรือลอกออกจากตัวสัตว์ได้ง่ายทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการจำแนกสัตว์แต่ละตัว
สัตว์ หมายความว่า สัตว์ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
ซากสัตว์ หมายความว่า ซากสัตว์ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
โรคระบาด หมายความว่า โรคระบาดตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
การตรวจโรคระบาด หมายความว่า การตรวจสุขภาพสัตว์และสุขศาสตร์ซากสัตว์ทางกายภาพ หรือทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาหรือทราบโรคระบาด
การทำลายเชื้อโรคระบาด หมายความว่า การกระทำใดๆ เพื่อให้ปราศจากเชื้อโรคระบาด เช่น การใช้สารเคมีภัณฑ์หรือความร้อนกับวัสดุอุปกรณ์ที่สัมผัสกับตัวสัตว์หรือซากสัตว์ ยานพาหนะบรรทุกสัตว์ รวมตลอดถึงการทำลายเชื้อโรคระบาดที่ตัวสัตว์หรือซากสัตว์ด้วย
ข้อ 5 ให้ผู้อำนวยการสำนักควบคุมโรค ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์รักษาการดามระเบียบนี้
หมวด 1
การอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัด
ซึ่งมิใช่การอนุญาตตามหมวด 2 หมวด 3 หรือหมวด 4 ของระเบียบนี้
ข้อ 6 ผู้ใดประสงค์จะนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัด ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์นั้นอยู่ในพื้นที่นั้น
ข้อ 7 ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ผู้รับคำขอเป็นผู้พิจารณาคำขอและตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์หรือซากสัตว์อย่างละเอียดและต้องไม่เป็นสัตว์หรือซากสัตว์ที่มาจากท้องที่ที่มีการระบาดของโรคระบาด หรือสงสัยว่ามีโรคระบาด และผู้ยื่นคำขอไม่เคยมีรายงานว่ามีความบกพร่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาต หรือการตอบรับสัตว์หรือซากสัตว์จากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางในการนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปในครั้งก่อนๆ แล้วให้ทำการตรวจโรคระบาดหรือการทำลายเชื้อโรคระบาดของสัตว์หรือซากสัตว์ เมื่อสัตว์หรือซากสัตว์ไม่มีพยาธิสภาพของโรคระบาดแล้ว ในกรณีที่เป็นสัตว์ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้แก่ โค กระบือ แพะ แกะ และสุกรทุกตัว ส่วนวัคซีนชนิดอื่นให้ฉีดตามที่กรมปศุสัตว์ได้กำหนด หรือผู้รับคำขอจะพิจารณาเห็นสมควรฉีดให้แก่สัตว์ก็ได้ เมื่อได้ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์แล้ว ให้สัตวแพทย์ผู้ฉีดทำหลักฐานการฉีดวัคซีนตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนดด้วย
สัตว์และลูกสัตว์ต่อไปนี้จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนชนิดใด และจะต้องทำเครื่องหมายที่ตัวสัตว์ตามข้อ 7 (3) หรือไม่ ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ผู้รับคำขอเป็น ผู้พิจารณาตามที่เห็นสมควร คือ
ลูกสุกรซึ่งมีน้ำหนักตัวหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม
สุกรขุนซึ่งมีน้ำหนักตัวหนักเกินกว่า 80 กิโลกรัม
ลูกโค หรือลูกกระบือซึ่งมีอายุไม่เกิน 4 เดือน
ลูกแพะ หรือลูกแกะซึ่งมีอายุไม่เกิน 2 เดือน
(2) สัตว์ตามข้อ 7 (1) หากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และวัคซีนชนิดอื่นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน และไม่เกินกว่า 120 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับการฉีดวัคซีน เป็นต้นมาจะไม่ฉีดวัคซีนชนิดดังกล่าวข้างต้นให้กับสัตว์นั้นอีกก็ได้ แต่ทั้งนี้สัตว์นั้นจะต้องมีหลักฐานการได้รับ การฉีดวัคซีน หรือสัตวแพทย์ผู้รับคำขอสามารถตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนได้ แล้วออกหนังสือรับรองให้ กับสัตว์นั้น พร้อมทั้งดำเนินการทำเครื่องหมายที่ตัวสัตว์ตามข้อ 7 (3) แล้วให้ดำเนินการพิจารณาออกใบอนุญาตให้นำสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดต่อไปตามกำหนดในข้อ 8
(3) ให้ทำเครื่องหมายที่ตัวสัตว์ตามแบบ วิธีการ และตำแหน่งที่ตัวสัตว์ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ทั้งนี้เครื่องหมายดังกล่าวจะต้องมองเห็นได้ชัดเจน
(4) เมื่อสัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด ข้อ 7 (1) และทำเครื่องหมายตามข้อ 7 (3) แล้ว ให้เลี้ยงสัตว์นั้นไว้ที่เดิมเพื่อดูอาการของโรคระบาดต่อไปเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน นับถัดจากวันที่ฉีดวัคซีนเป็นต้นไป ถ้าสัตว์ยังคงมีสุขภาพสมบูรณ์เป็นปกติ จึงให้ดำเนินเรื่องการออกใบอนุญาต ให้นำสัตว์นั้นไปได้ตามที่กำหนดในข้อ 8 ให้กับผู้ขออนุญาต
(5) สำหรับสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่โค กระบือ แพะ แกะ และสุกรตามข้อ 7 (1) จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดชนิดใดหรือไม่ ให้เป็นไปตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด
ข้อ 8 สัตวแพทย์ประจำท้องที่ผู้รับคำขอเมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 7 แล้ว ให้พิจารณาออกใบอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดให้กับผู้ขอรับใบอนุญาต โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ก่อนออกใบอนุญาต ให้แจ้งการขออนุญาตนำสัตว์หรือซากไปยังท้องที่ต่างจังหวัดไปให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์นั้นจะเคลื่อนย้ายไปทราบโดยวิธีด่วนที่สุด
การแจ้งตามตามความในวรรคก่อน ให้ระบุรายละเอียดสถานที่ปลายทางที่นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปให้ชัดเจน เพื่อให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางหรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายสามารถทราบรายละเอียด และเดินทางไปยังจุดที่สัตว์หรือซากสัตว์จะไปถึงได้ถูกต้อง
(2) ให้ผู้ออกใบอนุญาตกำหนดจำนวนวันที่ให้ใช้ใบอนุญาตให้เหมาะสมกับระยะทางของการ เดินทางที่จะนำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นไปถึงปลายทางได้ แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมงนับจากวันออกใบอนุญาตเป็นต้นไป
(3) กรณีที่ต้องใช้ยานพาหนะขนส่งสัตว์หรือซากสัตว์จำนวนหลายคัน ให้ออกใบอนุญาตเป็นรายคัน
(4) ให้ผู้ออกใบอนุญาตหรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมาย ไปทำการตรวจโรคระบาดสัตว์หรือซากสัตว์ที่ได้รับอนุญาต หากไม่พบโรคระบาดให้ควบคุมการนำสัตว์หรือซากสัตว์ขึ้นยานพาหนะให้เรียบร้อย พร้อมทั้งให้ดำเนินการทำลายเชื้อโรคระบาด ก่อนที่จะมอบใบอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดให้กับผู้รับใบขออนุญาต
ข้อ 9 เมื่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางหรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้รับแจ้งตาม ข้อ 8 (1) แล้ว ให้เดินทางไปตรวจตามกำหนดที่สัตว์หรือซากสัตว์เคลื่อนย้ายมาถึง และให้บันทึกรายการในใบตอบรับสัตว์หรือซากสัตว์แล้วส่งคืนสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทางโดยด่วน หากตรวจพบสัตว์หรือซากสัตว์เป็นโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุ อันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดให้รายงานปศุสัตว์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยท้องที่ต้นทาง และผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยท้องที่ปลายทางทราบโดยวิธีด่วนที่สุด
ในวันที่สัตว์หรือซากสัตว์มาถึงตามกำหนดที่ได้รับแจ้ง ต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทาง แต่สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางหรือ สัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายตรวจไม่พบสัตว์หรือซากสัตว์ดังกล่าว จนเวลาล่วง เข้าไปในวันถัดไปอีกหนึ่งวันก็ยังไม่สามารถตรวจพบสัตว์หรือซากสัตว์นั้นได้ ก็ให้สอบสวนหาสาเหตุและ ข้อเท็จจริงพร้อมทั้งให้ติดต่อขอสำเนาหลักฐานใบอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทาง ถ้าหากพบว่ามีการกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ หรือเงื่อนไขที่ กำหนดไว้ในใบอนุญาตให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อทำการสอบสวน แล้วรายงาน ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
ข้อ 10 ในกรณีที่สัตวแพทย์พบว่าสัตว์หรือซากสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตให้นำไปยังท้องที่ต่างจังหวัด ในขณะเดินทางหรือถึงท้องที่ปลายทางแล้ว เกิดเป็นโรคระบาด หรือเป็นพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าสัตว์ป่วยหรือตายโดยโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ดำเนินการตามมาตรา 10 หรือมาตรา 13 หรือมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 แล้วแต่กรณี และหากสัตว์หรือซากสัตว์นั้นจะถูกทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ให้สัตวแพทย์ผู้ตรวจพบทำบันทึกสั่งกักสัตว์ หรือซากสัตว์นั้นไว้ เพื่อดำเนินการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ ตามระเบียบการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ดังกล่าว และข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และถ้ามีการขอเบิกจ่ายเงินค่าทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น และทำเรื่องเบิกจ่ายเงินต่อไป เว้นแต่เจ้าของสัตว์ได้จงใจกระทำความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฏหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
ข้อ 11 สัตวแพทย์ประจำท้องที่ผู้ใดจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับในเขตท้องที่ใดและกรณีใดนั้น ให้เป็นไปตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด
หมวด 2
การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายใน เข้าใน หรือออกนอกเขตโรคระบาด
เขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว
ข้อ 12 ผู้ใดประสงค์จะเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ภายในเขตพื้นที่ที่มีประกาศเป็นเขตโรคระบาด หรือเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว หรือออกนอกเขตดังกล่าวไปยังเขตพื้นที่ที่ไม่มีประกาศเป็นเขตโรคระบาด เขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน หรือต่างจังหวัด ให้ผู้นั้นยื่นคำขอต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่นั้น หรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมโรคระบาด
เมื่อได้รับคำขอตามวรรคก่อนแล้ว ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่หรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมโรคระบาดดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กรณีการขออนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เมื่อเห็นว่าไม่มีพยาธิสภาพของโรคระบาด ไม่ใช่ซากสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เกิดโรคระบาด เมื่อได้ดำเนินการทำลายเชื้อโรคระบาดแล้วให้สัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมโรคระบาด หรือสัตวแพทย์ประจำท้องที่นั้นพิจารณาออกหนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาต
(2) กรณีเป็นการขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ให้ดำเนินการตามข้อ 7 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม แต่ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดชนิดเดียวกันกับโรคระบาดที่ระบุในประกาศ และให้กักสัตว์ไว้ดูอาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวัน นับถัดจากวันที่ฉีดวัคซีนเป็นต้นไป แล้วให้สัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมโรคระบาดหรือสัตวแพทย์ประจำท้องที่นั้นพิจารณาออกหนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาต
(3) กรณีเป็นการขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่อำเภอชายแดนที่มีประกาศเป็นเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบโรคระบาดที่อาจมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทยเมื่อตรวจสอยแล้วไม่พบว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวให้สัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมโรคระบาดหรือสัตวแพทย์ประจำท้องที่พิจารณาออกหนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาตโดยดำเนินการตามข้อ 7 และข้อ 8 โดยอนุโลม
(4) กรณีเป็นการขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ต่างจังหวัด ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางหรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการตามข้อ 9
ข้อ 13 ผู้ใดประสงค์จะเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์จากท้องที่ซึ่งไม่มีประกาศเป็นเขตโรคระบาด เขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว เข้าในเขตท้องที่ซึ่งมีประกาศเป็นเขตโรคระบาด เขตสงสัยว่ามีโรคระบาด หรือเขตโรคระบาดชั่วคราว ให้ผู้นั้นยื่นคำขออนุญาตตามความในข้อ 6 และให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่นั้นดำเนินการตามความในข้อ 7 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม แต่กรณีเป็นสัตว์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดชนิดเดียวกันกับโรคระบาดที่ระบุในประกาศ และให้กักสัตว์ไว้ดูอาการเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวัน นับถัดจากวันที่ฉีดวัคซีนเป็นต้นไป แล้วให้พิจารณาออกในอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ โดยดำเนินการตามความในข้อ 8 และให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางหรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการตามความในข้อ 9 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม ยกเว้นสัตว์ที่จะเข้าเขตอำเภอชายแดนที่มีประกาศเป็นเขตสงสัยว่ามีโรคระบาด เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบโรคระบาดที่อาจมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยและไม่พบว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น ให้ดำเนินการตามข้อ 6 และข้อ 7 แล้วให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่พิจารณาออกหนังสืออนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์โดยให้ดำเนินการตามความในข้อ 8 และให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางหรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการตามความในข้อ 9 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม
ข้อ 14 ในกรณีสัตวแพทย์พบว่าสัตว์หรือซากสัตว์ที่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายตามหมวดนี้ ในขณะเดินทาง หรือถึงปลายทางแล้ว เกิดเป็นโรคระบาด หรือเป็นพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าสัตว์ป่วยหรือตายโดยโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ดำเนินการตามมาตรา 10 หรือมาตรา 13 หรือมาตรา 18 แห่งฟระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 แล้วแต่กรณี และหากสัตว์หรือซากสัตว์นั้นจะถูกทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ให้สัตวแพทย์ ผู้ตรวจพบทำบันทึกสั่งกักสัตว์หรือซากสัตว์นั้นไว้ เพื่อดำเนินการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ ตามระเบียบการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ดังกล่าว และข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และถ้ามีการขอเบิกจ่ายเงินค่าทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น และทำเรื่องเบิกจ่ายเงินต่อไป เว้นแต่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์นั้นได้จงใจกระทำความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
หมวด 3
การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด
ข้อ 15 ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตเคลื่อนย้ายโค กระบือ แพะ แกะ สุกร หรือซากสัตว์ของสัตว์ดังกล่าวเข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด ให้ผู้นั้นยื่นคำขอต่อสัตวแพทย์ประจำท้องที่ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์นั้นอยู่ในพื้นที่นั้น
ข้อ 16 เมื่อได้รับคำขอแล้วให้ผู้รับคำขอพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) การขออนุญาตนำซากสัตว์ประเภทเนื้อ ซึ่งประสงค์จะนำไปเพื่อการบริโภค
(ก) จะต้องเป็นซากสัตว์ที่ได้จากสัตว์ซึ่งไม่ใช่มาจากแหล่งที่มีโรคระบาด
(ข) จะต้องเป็นซากสัตว์ที่ผ่านกระบวนการฆ่าจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากสัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมาย
(ค) จะต้องเป็นซากสัตว์ที่สัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายได้ตรวจแล้วเห็นว่าซากสัตว์นั้นไม่มีเชื้อโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด และออกหนังสือรับรองคุณภาพของซากสัตว์ จำนวนของซากสัตว์ มอบให้เจ้าของซากสัตว์ไว้เป็นหลักฐาน
(ง) สถานที่ตัดแต่ง บรรจุหีบห่อ และเก็บรักษาซากสัตว์ต้องได้รับการรับรองจากสัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมาย
(2) การขออนุญาตนำซากสัตว์ประเภทอื่น ๆ ในส่วนที่ไม่ได้กำหนด ให้ดำเนินการตามข้อ 16 (1) โดยอนุโลม
(3) การขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์
(ก) ต้องเป็นสัตว์ที่มีลักษณะดี เหมาะสมสำหรับใช้ปรับปรุงและขยายพันธุ์อย่างแท้จริงหรือตามที่อธิบดีกรมปศุสัตวหรือสัตวแพทย์ซึ่งที่อธิบดีมอบหมายจะอนุญาตตามที่เห็นสมควร
(ข) จะต้องให้ปศุสัตว์จังหวัดปลายทางที่นำสัตว์ไป รับรองสถานที่เพื่อใช้กักสัตว์ตามข้อ 18 และให้นำหนังสือรับรองสถานกักกันสัตว์นั้นมาประกอบการขออนุญาตด้วย
(ค) บริเวณที่มาของสัตว์ ในรัศมียี่สิบกิโลเมตรต้องไม่มีโรคระบาดชนิดเดียวกันกับโรคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาดตลอดระยะเวลาสามเดือนที่ผ่านมา
(ง) การขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อการค้า ผู้รับคำขอต้องบันทึกหมายเลขและสถานที่ที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตเพื่อทำการค้าสัตว์ของผู้ขออนุญาตไว้ในในคำขออนุญาตด้วย
(จ) ให้ดำเนินการตามข้อ 7 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เกี่ยวกับการกักสัตว์ ให้กักสัตว์ไว้ดูอาการของโรคระบาด ณ สถานกักกันสัตว์ของกรมปศุสัตว์ หรือสถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์รับรองเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบเอ็ดวัน
(ฉ) ในวันถัดจากวันที่นำสัตว์เข้ากัก ณ สถานกักกันสัตว์ ให้ผู้รับคำขอส่งสำเนาคำขออนุญาตหนังสือรับรองสถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์รับรอง และรายงานวันที่ครบกำหนดในการกักสัตว์ให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ซึ่งอธิบดกรมปศุสัตว์ีมอบหมายทราบโดยวิธีด่วนที่สุด
(ช) ให้สัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่ตรวจโรคระบาด บันทึกผลการตรวจโรคระบาดและอาการของสัตว์ที่กักไว้เป็นหลักฐานอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเคลื่อนย้ายสัตว์จากสถานกักกันสัตว์นั้นไปหมด
ข้อ 17 สัตว์หรือซากสัตว์ซึ่งยื่นคำขอตามข้อ 15 เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 16 แล้ว เห็นว่าไม่มีพยาธิสภาพของโรคระบาดและเห็นสมควรอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้ ให้รายงานผลการปฏิบัติพร้อมเสนอความเห็นไปให้อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายทราบโดยวิธีด่วนที่สุด เพื่อพิจารณาอนุญาดให้เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด
การอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามวรรคแรก ให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ให้หมดภายในระยะเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับทราบการอนุญาตเป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ในระหว่างการเคลื่อนย้ายสัตว์ จะต้องไม่มีการนำสัตว ์หรือซากสัตว์อื่น ๆ เข้าหรือออกจากสถานกักกันสัตว์หรือซากสัตว์นั้น
ข้อ 18 สัตว์ที่เคลื่อนย้ายตามความในหมวดนี้ เมื่อถึงปลายทางให้ปศุสัตว์จังหวัดท้องที่ปลายทางดำเนินการกักสัตว์ไว้เป็นเอกเทศในสถานกักกันสัตว์ปลายทางที่ปศุสัตว์จังหวัดรับรอง เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวันนับถัดจากวันที่สัตว์มาถึง
ข้อ 19 ในกรณีที่สัตวแพทย์พบว่าสัตว์หรือซากสัตว์ที่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายตามหมวดนี้ ในขณะเดินทาง หรือถึงท้องที่ปลายทางแล้ว เกิดเป็นโรคระบาด หรือพาหะของโรคระบาด หรือมีเหตุสมควรสงสัยว่าสัตว์ป่วยหรือตายโดยโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ดำเนินการตามมาตรา 10 หรือมาตรา 13 หรือมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 แล้วแต่กรณี และหากสัตว์หรือซากสัตว์นั้นจะต้องถูกทำลายตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ให้สัตวแพทย์ผู้ตรวจพบทำบันทึกสั่งกักสัตว์ หรือซากสัตว์นั้นไว้ เพื่อดำเนินการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ ตามระเบียบการทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ดังกล่าว และข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และถ้ามีการขอเบิกจ่ายเงินค่าทำลายสัตว์หรือซากสัตว์ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น และทำเรื่องเบิกจ่ายเงินต่อไป เว้นแต่เจ้าของสัตว์ได้จงใจกระทำความผิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
ข้อ 20 กรณีการขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ในส่วนที่ไม่ได้กำหนดในหมวดนี้ให้นำความในหมวด 1 มาปฏิบัติโดยอนุโลม
หมวด 4
การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในหรือระหว่างเขตปลอดโรคระบาด
ข้อ 21 การขอและการอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์จากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดอื่นภายในเขตปลอดโรคระบาด ให้ปฏิบัติตามความในหมวด 1 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม แต่ในข้อที่เกี่ยวกับการกักสัตว์ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดให้แก่สัตว์นั้น ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ผู้รับคำขอเป็นผู้พิจารณาตามที่เห็นสมควร
สำหรับการนำสัตว์จากท้องที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ของสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 8 และเขต 9 ให้ปฏิบัติตามความในหมวด 1 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม แต่ในข้อที่เกี่ยวกับการกักสัตว์ไว้ดูอาการของโรคระบาด ให้ดำเนินการกักเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
ถ้าเป็นโค กระบือ และสุกรซึ่งจะนำไปเพื่อการค้าให้พิจารณาเฉพาะโค กระบือ และสุกรจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น
ข้อ 22 การขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์จากเขตที่มีประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาดแห่งหนึ่ง เข้าในหรือผ่านเขตพื้นที่ที่มีประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาดอีกแห่งหนึ่ง โดยต้องเดินทางผ่านเขตพื้นที่ที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาด ให้ดำเนินการตามที่กำหนดในหมวด 3 ของระเบียบนี้โดยอนุโลม
หมวด 5
การทำลายเชื้อโรคระบาด การกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์
ไปยังท้องที่ต่างจังหวัดและการนำสัตว์ผ่านด่านกักสัตว์
ข้อ 23 เมื่อสัตว์หรือซากสัตว์ได้รับอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายได้ตามหมวด 1 หมวด 2 หมวด 3 หรือหมวด 4 แล้วให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่หรือสัตวแพทย์ผู้อนุญาตสั่งให้ผู้รับอนุญาตจัดการให้สัตว์หรือซากสัตว์และสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์รวมตลอดถึงยานพาหนะที่จะใช้บรรทุกสัตว์หรือซากสัตว์ได้รับการทำลายเชื้อโรคระบาดตามกระบวนการดังต่อไปนี้
(1) ให้ชำระล้างพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ให้สะอาดก่อนที่จะใช้บรรทุกสัตว์หรือซากสัตว์
(2) เมื่อนำสัตว์ขึ้นยานพาหนะแล้ว ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ตัวสัตว์ ยานพาหนะและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบรรทุกสัตว์ เช่น วัสดุรองพื้นหรือวัสดุที่สัมผัสกับตัวสัตว์
(3) ถ้าเป็นซากสัตว์ประเภท กระดูก งา เขา ขน หนัง กีบ หนังแห้ง ให้ทำลายเชื้อโรคระบาดด้วยวิธีรมยาฆ่าเชื้อ โดยใช้ด่างทับทิม 7.5 กรัม ผสมนำยาฟอร์มาลิน 15 ซีซี ต่อเนื้อที่หนึ่งลูกบาศก์เมตรเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
ข้อ 24 ในการออกใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามระเบียบนี้ให้ผู้อนุญาตกำหนดเงื่อนไขดังต่อไปนี้ไว้ในใบอนุญาตด้วย คือ
(1) การใช้เส้นทางให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ขอรับใบอนุญาต โดยให้ระบุหมายเลขของทางหลวงแผ่นดินตามที่กรมทางหลวงกำหนด และให้ระบุชนิดและหมายเลขทะเบียนยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์ลงหรือซากสัตว์นั้น กรณีที่จะต้องกำหนดเป็นอย่างอื่นให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ออกใบอนุญาต
(2) กรณีเป็นการลำเลียงโดยรถไฟให้กำหนดสถานีขนส่งสัตว์หรือซากสัตว์และสถานีนำสัตว์หรือซากสัตว์ลงโดยให้เป็นไปตามที่กรมปศุสัตว์ประกาศกำหนด
(3) ถ้าเส้นทางตามข้อ 24 (1) ต้องผ่านด่านกักสัตว์ ภายใต้บังคับกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 ผู้อนุญาตจะกำหนดเงื่อนไขให้ผ่านด่านกักสัตว์ด่านใดด่านหนึ่ง หรือหลายด่านก็ได้
(4) ให้หัวหน้าด่านกักสัตว์ซึ่งมีผู้นำสัตว์ผ่าน มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ตรงตามที่ได้รับอนุญาตตามระเบียบนี้ รวมทั้งตรวจสอบจำนวนสัตว์ ความถูกต้องของสัตว์ที่ได้รับอนุญาตและทำการตรวจโรคระบาด เมื่อเห็นว่าสัตว์สมบูรณ์เป็นปกติ และจะต้องเดินทางต่อไปก็ให้สลักหลังใบอนุญาต แล้วมอบให้ผู้รับอนุญาตเพื่อแสดงว่าสัตว์ของตนได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายได้
ในกรณีลำเลียงสัตว์โดยยานพาหนะรวดเดียวถึงปลายทาง ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทางที่จะลำเลียงสัตว์นั้น เป็นผู้มีหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในวรรคก่อน
ในกรณีที่พบว่าสัตว์เป็นโรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาด ซึ่งจะต้องถูกทำลายตามความในข้อ 10 ของระเบียบนี้ ก็ให้ดำเนินการทำลายสัตว์นั้นตามที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวต่อไปนี้
(5) ในกรณีที่มีการทำลายเชื้อโรคผ่านด่านกักกันสัตว์ ให้ผู้ทำลายเชื้อโรคผ่านด่านกักสัตว ์เก็บหรือไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียมค่าทำลายเชื้อโรคผ่านด่านกักกันสัตว์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด 6
การรายงาน
ข้อ 25 ให้ผู้มีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามระเบียบนี้ ทำรายงานการปฏิบัติงานเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชาทราบดังนี้
(1)ให้ด่านกักกันสัตว์ส่งรายงานการอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ในแต่ละเดือน โดยให้เรียงลำดับตามหมายเลขของในอนุญาตตามแบบ ร.3 หรือแบบ ร.4 แล้วแต่กรณีไปให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ทราบภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
(2) ให้ปศุสัตว์จังหวัดส่งรายงานตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ในเขตท้องที่จังหวัดของตนในแต่ละเดือนไปให้สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ทราบภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
(3) ให้สัตวแพทย์ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายให้เป็นผู้ออกหนังสืออนุญาตตามหมวด 3 รายงานการออกหนังสืออนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาดให้กรมปศุสัตว์ทราบภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
หมวด 7
แบบคำขอ แบบในอนุญาตและแบบเอกสารต่าง ๆ ตามระเบียบนี้
ข้อ 26 แบบคำขอให้ใช้เอกสารตามแบบที่กรมปศุสัตว์กำหนด ส่วนแบบใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามระเบียบนี้ ให้ใช้แบบพิมพ์ของกรมปศุสัตว์
สำหรับหนังสือรับรองคุณภาพซากสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ สถานที่ตัดแต่ง บรรจุหีบห่อ และเก็บรักษาซากสัตว์ และหนังสือรับรองสถานกักกันสัตว์ ให้ใช้เอกสารตามแบบที่แนบท้ายระเบียบนี้
หมวด 8
บทเฉพาะกาล
ข้อ 27 การใดซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการอนุญาต การตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรคในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2544 อยู่ ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวจนเสร็จการ แต่ถ้าการนั้นสามารถดำเนินการตามระเบียบนี้ได้โดยไม่เกิดความเสียหาย ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2546
ยุคล ลิ้มแหลมทอง
(นายยุคล ลิ้มแหลมทอง)
อธิบดีกรมปศุสัตว์
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๑๑๔ ง วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗
กรมปศุสัตว์ ให้หนังสือฉบับนี้เพื่อแสดงว่า |
ซากสัตว์ประเภท ............... จำนวน ......... กิโลกรัม (ลงชื่อ).............................. |
หมายเหตุ - หนังสือรับรองฉบับนี้ออกให้โดยอาศัยระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วย การอนุญาต การตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรค ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 |
ระดับ............ เลขทะเบียน .............. |
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หนังสือฉบับนี้เพื่อแสดงว่า |
สถานกักกันสัตว์ .............................................................. (ลงชื่อ).............................. |
หมายเหตุ - หนังสือรับรองฉบับนี้ออกให้โดยอาศัยระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วย การอนุญาต การตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรค ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2546 - ในระหว่างอายุการรับรอง เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์สามารถเข้าตรวจสอบการดำเนินการของสถานกักกันสัตว์ได้ตลอดเวลาโดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า - กรมปศุสัตว์สามารถเรียกคืนหรือระงับการใช้ได้โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าหากมีเหตุจำเป็น หรือตรวจสอบแล้วพบว่าสถานกักกันสัตว์ที่ได้รับการรับรองไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนด |
แบบ ร.๑ |
กรมปศุสัตว์ แบบคำขออนุญาตนำหรือย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร |
เขียนที่ ............................... วันที่ ....... เดือน ................ พ.ศ. ........ |
เรียน ...................... ด้วยข้าพเจ้า .......................... อายุ ......... ปี บัตรประชาชนเลขที่ ........................................ อาชีพ ..................... อยู่บ้านเลขที่ ........... หมู่ที่ ......... ถนน ............................ ตำบล ................. อำเภอ .................. จังหวัด .................. มีความประสงค์จะ [ ] นำ สัตว์ ซากสัตว์ [ ] ย้าย [ ] ไปยังท้องที่ต่างจังหวัด [ ] เข้า ผ่าน เขตปลอดโรค [ ] ผ่านด่านกักสัตว์ ชนิดและพันธุ์ของสัตว์ ................... จำนวน ผู้ ........ ตัว เมีย ....... ตัว รวม ......... ตัว ชนิดของซาก ................... จำนวน ..................... ผืน/ก.ก. ชนิดของซาก ................... จำนวน ..................... ผืน/ก.ก. ชนิดของซาก ................... จำนวน ..................... ก.ก. เพื่อ ...................................................... จากบ้านเลขที่ ...... หมู่ที่ ..... ถนน ..................... ตำบล ............. อำเภอ ............. จังหวัด ........... โดยทาง ......................................... ผ่านด่านกักสัตว์ ................................. ไปยังบ้านเลขที่ .......... หมู่ที่ ......... ถนน ....................... ตำบล ................. อำเภอ ............. จังหวัด ..................... ในการนี้ข้าพเจ้าขอรับรองว่า จะปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกประการ (ลงชื่อ).............................. |
บันทึกของสัตวแพทย์ .............................................................................. ...................................................................................................... ..................................................................................................... |
หมายเหตุ สัตว์หรือซากสัตว์ที่นำไปเพื่อใช้ในการอะไรต้องบอกให้ชัดเจน คำใดที่ไม่ต้องการให้ขีดออก |
แบบ ร.๓ |
กรมปศุสัตว์ ใบอนุญาตให้ย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เฉพาะภายในเขตเกิดโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด |
ที่ ................ เขียนที่ ............................... |
หนังสือฉบับนี้แสดงว่า ..................................... อยู่ที่บ้าน ............. ถนนหรือหมู่ที่ ......... ตำบล ................. อำเภอ .................. จังหวัด .................. ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ จำนวน ............... ตัว .................. ก.ก. หรือผืน จากบ้าน ................... ถนนหรือหมู่ที่ ......... ตำบล ............. อำเภอ ............. จังหวัด ............... ไปยังบ้าน ................... ถนนหรือหมู่ที่ ......... ตำบล ............. อำเภอ ............. จังหวัด ............... โดยทาง ................................. สัตว์หรือซากสัตว์จำนวนนี้ ได้ ............................................... ................................................. ............................................... .................................................. .................................................. ใบอนุญาตนี้ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ ....................................... ออกให้ ณ วันที่ ..................................... (ลงชื่อ).............................. |
แบบ ร.๔ |
เล่มที่ .................... เลขที่ .................... |
กรมปศุสัตว์ ใบอนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เฉพาะภายในราชอาณาจักร |
ที่ ................ เขียนที่ ............................... |
หนังสือฉบับนี้แสดงว่า ..................................... อายุ ...... ปี เชื้อชาติ ....... สัญชาติ ......... อาชีพ ............... อยู่บ้านเลขที่ ......
หมู่ที่ ......... ถนน ....................... ตำบล ................. อำเภอ .................. จังหวัด .................. ได้รับอนุญาตให้นำ เคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ดังนี้ ชนิดและพันธุ์สัตว์ ............................ จำนวน ผู้ ........... ตัว เมีย ......... ตัว รวม .......... ตัว ชนิดของซาก ............................. จำนวน ....................... ผืน/ก.ก. จากบ้านเลขที่ ......... หมู่ที่ ......... ตำบล ............. อำเภอ ............. จังหวัด ............... ไปยังบ้านเลขที่ ......... หมู่ที่ ......... ตำบล ............อำเภอ ........... จังหวัด ............. โดยทาง ................................. สัตว์ตามใบอนุญาตนี้ได้รับการฉีดวัคซีน .................. ชุดที่ ................ เมื่อ ................. .................. ชุดที่ ................ เมื่อ ................. .................. ชุดที่ ................ เมื่อ ................. ประทับเครื่องหมาย ................................... ไว้แล้วที่ ........................ ซากสัตว์ตามใบอนุญาตนี้ได้รับการทำลายเชื้อโรค โดย ........................................................ ....................................................... ........................................................ ....................................................... ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดดังนี้ (1) .................................................................ใบอนุญาตนี้ให้ใช้ได้จนถึงวันที่ .... เดือน .......... พ.ศ. ........ ออกให้แต่วันที่ วันที่ .... เดือน .......... พ.ศ. ........ (ลงชื่อ).............................. |
หมายเหตุ ให้ขีดฆ่าคำที่ไม่ต้องการออกแล้วเซ็นชื่อกำกับไว้ทุกแห่ง และถ้าต้องกำหนดให้นำไปผ่านด่านกักสัตว์ให้ระบุไว้ในเงื่อนไขให้ชัดเจน หากมีการต่ออายุหรือการอื่นใดให้สลักหลัง สำหรับกรณีนำเข้าพื้นที่เขตปลอดโรคให้หมายเหตุแสดงให้ชัดเจนว่าได้รับมอบหมายจากอธิบดีเป็นหนังสือหรือคำสั่งอย่างใดให้ละเอียด |