1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>กฏหมาย>ระเบียบฯ ว่าด้วยการจัดการซากสัตว์ของทางราชการที่ตาย พ.ศ. ๒๕๔๓


ระเบียบกรมปศุสัตว์
ว่าด้วยการจัดการซากสัตว์ของทางราชการที่ตาย พ.ศ. ๒๕๔๓


หมวด 1 การจัดการซากสัตว์ที่ตาย  | 

หมวด 2 ซากสัตว์ที่ต้องทำลายและวิธีการทำลาย | 


ด้วยกรมปศุสัตว์มีสัตว์เลี้ยงเพื่อการต่าง ๆ อยู่ตามหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งสัตว์ที่กรมปศุสัตว์นำไปให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อการส่งเสริม แต่สัตว์เหล่านั้นยังเป็นทรัพย์สินของทางราชการ สัตว์เหล่านี้มีการตายจากสาเหตุต่าง ๆ สัตว์ที่ป่วยตายเนื่องจากเป็นโรคหรือสัตว์ที่ตายด้วยสาเหตุอื่นซึ่งมิใช่เกิดจากโรค แต่ซากสัตว์เหล่านั้นไม่เหมาะสมที่จะใช้บริโภค เนื่องจากยังไม่มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการซากสัตว์ของทางราชการที่ตายให้เป็นแนวทางเดียวกัน จึงสมควรที่จะกำหนดระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการจัดการซากสัตว์ที่ตายแล้วนั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการจัดการซากสัตว์ของทางราชการที่ตาย พ.ศ. 2534 ”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันออกประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้

“ สัตว์ ” หมายความว่า สัตว์ตามความในกำหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และสัตว์อื่นตามที่กำหนดในกำกระทรวงซึ่งออกตามความหมายในกำหมายดังกล่าว และรับผิดชอบเลี้ยงดูแลในหน่วยงานของกรมปศุสัตว์

“ ซากสัตว์ “ หมายความว่า ซากสัตว์ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์

“ สัตวแพทย์ ” หมายความว่า สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์

“ โรคระบาด ” หมายความว่า โรคระบาดตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และโรคระบาดอื่น ๆ ตามที่กำหนดในกำกระทรวงซึ่งออกตามความในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์

ข้อ 4 ให้อธิบดีกรมปศุสัตว์หรือผู้ที่อธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

หมวด 1
การจัดการซากสัตว์ที่ตาย

ข้อ 5 กรณีสัตว์ของทางราชการตายลง ให้หน่วยงานที่เป็นผู้ควบคุมการเลี้ยงและทะเบียนสัตว์ที่ตาย ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 การดำเนินการ สอบข้อเท็จจริง ให้มีประวัติการรักษา และผลการชันสูตรซากสัตว์ที่ตายของสัตวแพทย์ประกอบการพิจารณา สัตวแพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ทำการชันสูตรซาก มีคำวินิจฉัยทางหลักวิชาการสัตวแพทยศาสตร์ในการจัดการซากสัตว์ที่ตายประการใด ให้ดำเนินการทั้งการจำหน่ายและส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หรือฝังซากทั้งหมดตามแต่ละกรณี ในการจำหน่ายซากและการฝังทำลายซาก ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2540 ข้อ 155 ข้อ 157 และข้อ 160 โดยอนุโลมอำนาจในการอนุมัติให้จำหน่ายให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มอบอำนาจไว้

ข้อ 6 กรณีที่สัตว์ตายจากลักษณะทางกายภาพ จากอุบัติเหตุอื่นใดที่ทำให้สัตว์ตาย โดยไม่มีสาเหตุจากโรคตามคำวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ทางหลักวิชาการสัตวแพทยศาสตร์ เมื่อตรวจสอบแล้วปราศจากสารพิษ เชื้อพิษอื่นใดที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค มีการตรวจสอบและวินิจฉัยตามหลักวิชาการสัตวแพทยศาสตร์ของสัตว์ว่าเหมาะสมที่จะใช้ซากสัตว์เช่นนั้นเป็นอาหารได้ ให้จำหน่ายซากสัตว์ได้และเงินที่จำหน่ายซากสัตว์ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

ข้อ 7 กรณีที่สัตว์ตายและคำวินิจฉัยเบื้องต้นจากสัตวแพทย์มีเหตุควรสงสัยว่าสัตว์เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์แล้ว ให้ดำเนินการฝังทำลายซากทั้งหมด และดำเนินตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าดำเนินการป้องกัน และกำจัดโรคระบาดสัตว์ ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และระเบียบว่าด้วยการทำลายสัตว์ที่เป็นโรคระบาดและและการทำลายสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538

ข้อ 8 กรณีที่สัตว์ตายและมีประวัติการรักษาสัตว์ที่ตาย หรือเป็นโรคหรือซากสัตว์มีลักษณะตามที่กำหนดในกำกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ให้ดำเนินการฝังทำลายซากสัตว์ทั้งหมด

ข้อ 9 กรณีที่สัตว์ตายจากกรณีอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากจาก ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ให้ดำเนินการฝังทำลายซากสัตว์ทั้งหมด

หมวด 2
ซากสัตว์ที่ต้องทำลายและวิธีการทำลาย

ข้อ 10 ซากสัตว์ใดปรากฎผลการตวจพิสูจน์ตามหลักวิชาการสัตวแพทยศาสตร์ที่แน่ชัดว่า ซากสัตว์นั้นไม่สามารถที่จะจำหน่ายเป็นรายได้แผ่นดิน หรือเป็นซากสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคแล้วแต่กรณี ให้สัตวแพทย์ มีคำสั่งให้ทำลายซากสัตว์นั้น

ข้อ 11 ให้ใช้วิธีการดังต่อไปนี้ ทำลายซากสัตว์ ตามที่กล่าวข้างต้น คือ

(ก) ให้ผู้สั่งทำลายซากสัตว์มีคำสั่งให้ฝังซากสัตว์ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ให้พูนดินกลบเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรด้วย

(ข) ใช้สารเคมีที่สามารถฆ่าทำลายเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ ทำการแช่ ราด หรือโรยที่ส่วนต่าง ๆ ของซากสัตว์จนทั่ว

(ค) ใช้ไฟเผาซากสัตว์นั้นให้ไหม้จนหมดสิ้น การเผาหรือฝังซากสัตว์ให้ดำเนินการตามวิธีกำหนดใน (ก) (ข) หรือ (ค) ดังกล่าวแล้ว อนุโลม


ประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2543  

ระพีพงศ์ วงศ์ดี   

(นายระพีพงศ์ วงศ์ดี)

อธิบดีกรมปศุสัตว์