1  

ส่วนป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 9 กรมปศุสัตว์

ที่นี่: Home>กฏหมาย>กฎกระทรวงว่าด้วยการนำเข้า นำออก ฯ พ.ศ. ๒๕๔๔


กฎกระทรวง
ว่าด้วยการนำเข้า นำออก หรือผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์
พ.ศ. ๒๕๔๔


หมวด ๑ การนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร|
หมวด ๒ การนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร|
หมวด ๓ การนำสัตว์หรือซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักร|
หมวด ๔ คำขอและใบอนุญาต|



อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๑๒) ออกตามความใน พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙

ข้อ ๒ การนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ให้ ปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

หมวด ๑
การนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร

ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ให้ยื่นคำขอต่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้านั้น เว้นแต่จะนำเข้าทางอื่นซึ่งมิใช่ท่าเข้าให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

(๒) การยื่นคำขอ ให้ยื่นก่อนนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่ถ้าเป็นสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำติดตัวเข้ามา จะยื่นคำขอขณะนำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นเข้ามาก็ได้

(๓) หากผู้ขอนำเข้าประสงค์จะนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ที่มิใช่ของกรมปศุสัตว์ สถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์นั้นจะต้องได้รับการตรวจรับรองตามระเบียบของกรมปศุสัตว์

ข้อ ๔ เมื่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้ารับคำขอแฃะตรวจเอกสารหรือหลักฐานประกอบการนำเข้าตามข้อ ๓ ถูกต้องแล้ว ให้พิจารณาว่าสัตว์หรือซากสัตว์นั้นต้องไม่ได้มาจากท้องที่ที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด แล้วจึงเสนอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาออกใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรพร้อมเงื่อนไขการนำเข้า (Requirement) ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด

ข้อ ๕ ให้ผู้นำเข้าที่ได้รับใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร แจ้งยืนยันรายละเอียดการนำเข้าต่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้าเกี่ยวกับ

(๑) วัน เวลา ที่นำเข้า และ

(๒) เที่ยวบิน เที่ยวเรือ หรือเที่ยวขบวนรถไฟ หรือทะเบียนยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร

ข้อ ๖ ในการนำสินค้าประเภทสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรโดยการขนส่งทางอากาศยานหรือทางเรือ เจ้าของอากาศยานหรือเจ้าของเรือจะต้องแจ้งรายการสินค้าประเภทสัตว์หรือซากสัตว์ที่บรรทุกมากับอากาศยานหรือเรือนั้น ให้กับสัตวแพทย์ประจำท่าเข้าทราบก่อนที่อากาศยานหรือเรือนั้นจะเดินทางมาถึงท่าเข้า

ข้อ ๗ ในกรณีที่นำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรโดยยานพาหนะใด ๆ จะนำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นลงจากยานพาหนะได้ต่อเมื่อสัตวแพทย์ประจำท่านั้นได้ตรวจและอนุญาตแล้ว

ข้อ ๘ ให้ผู้นำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรแสดงหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ ซึ่งออกโดยสัตวแพทย์ผู้มีอำนาจหน้าที่ของประเทศที่นำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นมายื่นต่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้า

ข้อ ๙ เมื่อนำสัตว์หรือซากสัตว์ลงจากยานพาหนะแล้ว ให้ผู้นำเข้านำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นไปยังสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ของท่าเข้า หรือสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์เพื่อการนำเข้าที่กรมปศุสัตว์รับรอง หรือสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ที่สัตวแพทย์ประจำท่าเข้ากำหนดเพื่อให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าตรวจโรค และทำลายน้ำเชื้อโรคตามระเบียบของกรมปศุสัตว์

ข้อ ๑๐ ในกรณีที่สัตวแพทย์ประจำท่าเข้ามีความสงสัยโดยมีเหตุอันสมควรว่าสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้ารายใดมีเชื้อโรคระบาด หรือมาจากฝูงสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือไม่มีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ กำกับมาพร้อมกับสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้า หรือมีหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์แต่การรรับรองนั้นไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงตามเงื่อนไขการนำเข้า (Requirement) ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด ให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้ากักสัตว์นั้นไว้เพื่อพิสูจน์ได้เป็นเวลาไม่เกินหกสิบวัน หรือกักซากสัตว์นั้นไว้เพื่อพิสูจน์ได้เป็นเวลาไม่เกินสิบวัน

ข้อ ๑๑ เมื่อสัตวแพทย์ประจำท่าเข้าได้ตรวจหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ ถูกต้องตามข้อ ๘ และได้ดำเนินการตามข้อ ๙ หรือข้อ ๑๐ แล้ว ให้เสนอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตให้นำหนังสือหรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่ในกรณีที่สัตว์หรือซากสัตว์นั้นเป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาดให้ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการนั้น

ข้อ ๑๒ สัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้าโดยปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามความในหมวดนี้ อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะผ่อนผันอนุญาตให้นำเข้าตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ก็ได้

ข้อ ๑๓ สัตว์หรือซากสัตว์ที่อยู่ในระหว่างการกักตรวจตามข้อ ๑๐ ให้เจ้าของเป็นผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบและออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น

ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ผู้นำเข้ารายใดก็ได้รับใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรแล้ว หากสัตวแพทย์ประจำท่าเข้าเห็นว่าในขณะนั้นกำลังมีโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีโรคระบาดในท้องที่ที่จะมีการนำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นเข้ามา ให้สัตวแพทย์ประจำ ท่าเข้าเสนอต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาสั่งระงับการนำเข้านั้น

หมวด ๒
การนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร

ข้อ ๑๕ ผู้ใดประสงค์จะนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑) ให้ยื่นคำขอต่อสัตวแพทย์ประจำท่าออก

(๒) ถ้าเป็นสัตว์ที่ต้องมีตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายต้องมีตั๋วรูปพรรณแสดงกรรมสิทธิ์แนบคำขอสำหรับสัตว์ที่ขอนำออกนั้นทุกตัว

(๓) ให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ของท่าออกหรือสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์เพื่อการส่งออกที่กรมปศุสัตว์รับรอง หรือสถานกักกันสัตว์หรือที่พักซากสัตว์ที่สัตวแพทย์ประจำท่าออกกำหนด เพื่อให้สัตวแพทย์ประจำท่าออกตรวจโรคและทำลายเชื้อโรค หรือจัดการอย่างอื่นใดตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ เว้นแต่ในกรณีของซากสัตว์ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าได้จัดการทำลายเชื้อโรคแล้ว

(๔) สัตว์หรือซากสัตว์ที่อยู่ในระหว่างการจัดการตาม (๓) ให้เจ้าของเป็นผู้ควบคุมดูแลรับผิดชอบและออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น

ข้อ ๑๖ เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ ๑๕ แล้ว ให้สัตวแพทย์ประจำท่าออกรับคำขอนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรเสนอต่ออธิบดีมอบหมายเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักรและออกหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์

ข้อ ๑๗ สัตว์หรือซากสัตว์ที่เจ้าของได้รับอนุญาตให้นำออกนอกราชอาณาจักรได้แล้วในกรณีที่สัตวแพทย์ประจำท่าออกสั่งระงับการนำออก หรือไม่อาจนำออกได้ด้วยเหตุใดๆ ก็ดี ให้เจ้าของรับคืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้นำออกได้

หมวด ๓
การนำสัตว์หรือซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักร

ข้อ ๑๘ การนำสัตว์หรือซากสัตว์ผ่านราชอาณาจักร ให้ปฏิบัติตามความในหมวด ๑ และหมวด ๒ โดยอนุโลม

ในกรณีที่อธิบดีเห็นควรผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ให้อธิบดีมีอำนาจสั่ง ผ่อนผันวิธีปฏิบัติการบางอย่างได้

หมวด ๔
คำขอและใบอนุญาต

ข้อ ๑๙ คำขอรับใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้ทำตามแบบของกรมปศุสัตว์ส่วนใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์หรือซากสัตว์เข้าในหรือผ่านราชอาณาจักร หนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ สำหรับสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำออกนอกราชอาณาจักรและใบอนุญาตให้นำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร ให้ใช้แบบพิมพ์ของกรมปศุสัตว์

ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๔๔


คัดจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๘ ตอนที่ ๘ ก ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔

  Top