โรคบรูเซลโลซิส Brucellosis (Brucella abortus)
( Bangs disease, Malta fever (คน), Undulent fever (คน) )
สาเหตุของโรคและสัตว์เป็นโรค
สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Brucella abortus โรคนี้เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน มีความสำคัญทางสาธารณสุข บรูเซลโลซิสเป็นโรคของระบบสืบพันธุ์ อาการป่วยในสัตว์ที่พบ ได้แก่ แท้ง รกค้าง ไม่สมบูรณ์พันธุ์ อาการในคนจะมีอาการเหมือนอาการหวัด และไม่มีลักษณะเฉพาะ Brucella เป็นเชื้อที่มีความจำเพาะในสัตว์แต่ละชนิด โดย Brucella abortus จะเป็นเชื้อที่เป็นในโคโดยเฉพาะ แต่สัตว์ชนิดอื่นก็อาจติดเชื้อได้ เช่น แพะ แกะ สุกร สุนัข อูฐ กระบือ สัตว์ป่า (กวาง สุนัขจิ้งจอก หนู)
อาการและพยาธิวิทยา
- อวัยวะที่เชื้อ Brucella ทำอันตรายในเพศเมีย ได้แก่ อวัยวะสืบพันธุ์ เต้านม และต่อมน้ำเหลืองเต้านม เชื้อจะเข้าฝังตัวในมดลูกเมื่อตั้งท้อง เนื่องจากการสร้างคาร์โบไฮเดรต erythritol ในเนื้อเยื่อของลูกอ่อนจะสามารถกระตุ้นการเจริญของเชื้อ
- ในเพศผู้เชื้อทำอันตรายที่อัณฑะและต่อมของอวัยวะสืบพันธุ์
- อวัยวะที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อกรณีแท้ง ได้แก่ มดลูกตั้งท้อง ตัวลูก และ รก ส่วนเต้านมจะเก็บเชื้อไว้ได้อย่างถาวรกว่าอวัยวะอื่น พบการขับเชื้อออกมาในน้ำนมเป็นครั้งคราวและมีปริมาณไม่แน่นอน
พยาธิวิทยา
เชื้อ Brucella แบ่งตัวอย่างรวดเร็วในระยะการตั้งท้องช่วงที่ 2 และช่วงสุดท้าย อาจพบอาการแท้งที่ระยะตั้งท้อง 5-8 เดือน มีการขับเชื้อปริมาณมากขณะคลอดและแท้งลูก เชื้อจะลดปริมาณลงเมื่อน้ำคร่ำและรกหมดไป ในการตั้งท้องครั้งต่อไปอาจไม่มีอาการแท้งอีกแต่จะสามารถนำเชื้อไปติดโคตัวอื่นได้ในช่วงคลอด เชื้อในมดลูกมีปริมาณสูงสุดในการตั้งท้องแรกและจะลดน้อยลงในการตั้งท้องครั้งต่อไป แต่กลับไปพบเชื้อได้จากนมน้ำเหลือง
ความต้านทานโรคและภูมิคุ้มกัน
- สัตว์สามารถติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ เมื่อโคยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะต้านทานโรคได้ แต่จะไวต่อโรคเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์และมีการตั้งท้อง ส่วนในโคตัวผู้อาจติดโรคได้ตั้งแต่อายุน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโคเพศเมีย และจะเก็บเชื้อไว้ในร่างกายจนกระทั่งกลายเป็นโคเต็มวัย
- ความทนต่อโรคเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ ลูกโค > โคสาวที่ยังไม่เจริญพันธุ์ > โคผู้เต็มวัย > โคสาวเจริญพันธุ์ > แม่โค
- การที่ Brucella เป็นปรสิตภายในเซลจะทำให้รอดพ้นจากปฏิกริยาของร่างกายและยาปฏิชีวนะ เมื่อติดเชื้อแล้ว โคจะเป็นโรคตลอดไป แม้ว่าส่วนน้อย (10-15%) อาจฟื้นจากโรคได้อย่างสมบูรณ์ โดยทั่วไปถือว่าโคที่ติดโรคแล้วเป็น carrier ถาวร (Blood and Radostits, 1989)
- ลูกโคที่เกิดจากแม่ที่เป็น reactor จะได้รับแอนติบอดีในนมน้ำเหลือง ทำให้พบผลซีรั่มเป็นบวก จนถึงอายุ 4-6 เดือน หลังจากนั้นจะให้ผลลบ ถือได้ว่าเป็นการติดโรคชั่วคราว (Nicoletti, 1980) ส่วนน้อยเป็นพวกแฝงโรค (latent carrier group) จะให้ผลลบต่อการตรวจซีรั่ม เมื่อโตและตั้งท้องอาจแท้งหรือให้ลูกโคตัวแรกที่ติดเชื้อ ดังนั้นลูกโคที่มาจากแม่ที่เป็น reactor จึงไม่ควรเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์
ระยะฟักตัว
ระยะเวลาตั้งแต่ 53-251 วัน มีความแตกต่างขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะตั้งท้อง ปริมาณเชื้อที่ได้รับ อายุ วัคซีน และความต้านทานของโฮสต์
วิธีติดเชื้อ
- ติดเชื้อโดย การกิน หรือเชื้อเข้าทางผิวหนังที่สัมผัส เยื่อบุตา และการปนเปื้อนเต้านมขณะรีดนม
- ลูกโคมีสามารถติดเชื้อได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ (in utero) แต่จะเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อของลูกเกิดโดยการกินนมน้ำเหลือง หรือน้ำนมที่ปนเปื้อนเชื้อ
- โคเพศผู้ติดเชื้อโดยการกิน มีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อแต่อาจไม่ปรากฏอาการผิดปกติ โคเพศผู้ขับเชื้อได้เมื่ออยู่ในระยะเฉียบพลัน แต่จะขับเชื้อเป็นบางครั้ง หรือไม่ขับเชื้อเลยหากเป็นระยะเรื้อรัง พ่อโคมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อให้โคตัวอื่นโดยการผสมพันธุ์
- ในการทดลองพบว่าไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อโดยการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ
- ส่วนใหญ่แล้วคนติดโรคได้โดยการบริโภคน้ำนมดิบ การสัมผัสโดยตรงกับลูกที่แท้ง น้ำในมดลูก หรือซากที่ติดเชื้อในการฆ่าชำแหละ เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกจะไม่เป็นอันตรายสามารถกินได้ เนื่องจากโดยปกติจะไม่พบเชื้อในกล้ามเนื้อ และ เชื้อจะถูกฆ่าในอุณหภูมิการปรุงอาหารปกติ แต่โรคสามารถติดไปสู่คนได้โดยกระบวนการฆ่าชำแหละ ซึ่งจะปนเปื้อนอวัยวะภายในที่มีเชื้อ (USDA, 2003)
ตารางที่ 1 ความทนทานของ B abortus ของ ที่มา : Nicoletti., 1980
แหล่ง
| อุณหภูมิ/สภาพแวดล้อม
| ระยะเวลามีชีวิต |
แสงแดด
| <31°C
| 4.5 ชั่วโมง
|
น้ำ
| -4°C
| 114 วัน
|
น้ำ
| อุณหภูมิห้อง
| 77 วัน
|
แหล่งน้ำ, ทะเลสาบ
| 37°C pH 7.5
| <1 วัน
|
แหล่งน้ำ, ทะเลสาบ
| 8°C pH 6.5
| >57 วัน
|
ดิน
| ในห้องที่แห้ง
| <4 วัน
|
ดิน
| ในห้องเปียก
| 66 วัน
|
ดิน
| ความชื้น 90%
| 48-73 วัน
|
มูลสัตว์
| ฤดูร้อน
| 1 วัน
|
มูลสัตว์
| ฤดูหนาว
| 53 วัน
|
มูลสัตว์
| 158-170°F
| <4 เดือน
|
มูลสัตว์, เหลว
| ฤดูร้อน
| 108 วัน
|
มูลสัตว์, เหลว
| ฤดูหนาว
| 174 วัน
|
น้ำทิ้ง
| แทงค์
| 7 สัปดาห์
|
น้ำทิ้ง
| แทงค์ 12°C
| 7 สัปดาห์
|
น้ำทิ้ง
| แทงค์ 12°C+100 ppm xylene
| <1 เดือน
|
น้ำลายแกะ
|
| 20-24 ชม. (strain 19)
|
น้ำในช่องท้องแกะ
|
| 10-30 นาที
|
ขนแกะ
| โรงเก็บ
| 110 วัน
|
การวินิจฉัยโรค
ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาสัตว์ติดเชื้อซึ่งสามารถขับเชื้อติดต่อตัวอื่น สัตว์ติดเชื้อส่วนมากสามารถตรวจได้โดยการตรวจทางซีรั่มวิทยาแต่การติดเชื้อแฝง (latent infection) จะทำให้การตรวจทางซีรั่มให้ผลลบ นอกจากนั้นสัตว์ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจให้ผลตรวจเป็นบวกทั้งที่ไม่ติดเชื้อ ทำให้ยุ่งยากต่อการบริหารจัดการเพื่อการควบคุมและกำจัดโรค
การตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบด้วยการเพาะแยกเชื้อและการทดสอบแอนติบอดีต่อ Br. abortus ในเลือด น้ำนม น้ำเมือกช่องคลอด น้ำเมือกอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้
การตรวจทางซีรั่มวิทยา มีหลายวิธีแต่ไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้องโดยสมบูรณ์ ทุกวิธีมีความไวที่แตกต่างกัน และมีความเหมาะสมในการใช้ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน จึงมีคำแนะนำในการใช้การทดสอบหลายวิธีร่วมกันเป็นช่วงระยะเวลาเพื่อลดความผิดพลาดในการตัดสินในระดับฝูง
- rose bengal test เหมาะสำหรับการทดสอบคัดกรองตัวอย่างจำนวนมาก ประมาณว่าการตรวจวิธีนี้จะให้ false positive ราว 1-3% ซึ่งอาจเกิดเนื่องจาก แอนติบอดีจากผลของวัคซีน แอนติบอดีจากนมน้ำเหลือง ปฏิกริยาข้ามจากเชื้อแบคทีเรียอื่น ความคลาดเคลื่อนของห้องปฏิบัติการ ส่วน false negative อาจเกิดเนื่องจาก การติดเชื้อในระยะเริ่มแรก และช่วงหลังจากแท้งใหม่ ๆ ในฝูงที่รู้แน่ว่าติดเชื้อจำนวนมากควรคัดทิ้งสัตว์ที่ให้ผลบวกทั้งหมดออกแม้ว่าอาจมี false positive ติดไปบ้าง แต่ในฝูงที่ฉีดวัคซีนหรือฝูงที่ความชุกโรคเบาบางถ้าทำเช่นเดียวกันจะทำให้กำจัด false positive มากเกินไป ดังนั้นในกรณีความชุกโรคเบาบางควรใช่การตรวจตระกูลอื่นร่วมด้วย เช่น complement fixation test สัตว์ตัวใดที่ให้ผลบวกทั้งสองวิธีจึงจะตัดสินใจกำจัด
- complement fixation test (CFT) มีข้อดีอย่างยิ่งคือ titer ที่ได้จากการทดสอบวิธีนี้จะไม่ลดต่ำในกรณีโรคเรื้อรัง และบางครั้งตรวจพบได้ก่อนวิธี tube agglutination test ทำให้ CF test เหมาะที่จะใช้ยืนยันในกรณีไม่ต้องการให้มี false positive
การรักษา
ไม่ใช้การรักษาสำหรับโรคนี้
หนังสืออ้างอิง
Nicoletti, P. 1980. The epidemiology of bovine brucellosis. In Advances in Veterinary Science and Comparative Medicine. Vol.24. p.70-95.
Top
Previous
Next